หมายเหตุ – นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” มองเสถียรภาพการเมืองในช่วง 1 ปีสุดท้ายของรัฐบาล
- มองการเลือกตั้งซ่อม 2 เขตภาคใต้ กับเขตหลักสี่-จตุจักร ใน กทม.อย่างไร
การเลือกตั้งซ่อมก็เหมือนแข่งเทนทิส ก่อนแกรนด์สแลมก็จะมีปรีซีซั่นอุ่นเครื่องก่อนรายการใหญ่ ถือเป็นการอุ่นเครื่องในช่วง 1 ปี ก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นของพรรคการเมือง ไว้ใช้ทดสอบความนิยม หรือนโยบายต่างๆ เพียงแต่ว่าที่ชุมพร สงขลา และหลักสี่ที่กำลังเกิดขึ้น ผมคิดว่ามีความแตกต่างกันในแง่ของผลเลือกตั้งซ่อมชุมพร สงขลา เป็นการแข่งกันเองของพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการป้องกันแชมป์ ใครแพ้ใครชนะ เสียงไม่ไปไหน เสถียรภาพของรัฐบาลยังอยู่ เป็นเรื่องความนิยมของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ
แต่ที่หลักสี่ไม่ใช่ มีภาพเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาลชัดเจน ที่สำคัญเป็นที่นั่งในเมืองหลวงที่ฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการรักษาไว้แล้ว เพราะ กทม.ถือเป็นตัวชี้วัดชี้ขาดในการเลือกตั้งใหญ่ทุกครั้ง จากจำนวนที่นั่งที่มีจำนานมาก หรือกลุ่มผู้ใช้สิทธิที่มีความหลากหลายตั้งแต่นักวิชาการ จนกระทั่งประชาชนรากหญ้า ฉะนั้น ผลของ กทม.จะมีนัยยะสำคัญที่สะท้อนถึงความคิดของประชาชนได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริง ให้แต่ละพรรคไปปรับกลยุทธ์สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ ดังนั้น ที่หลักสี่จึงน่าจับตาดู กึ่งๆ เหมือนปรีซีซั่น สอบถามความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล
แพ้ชนะก็อยากให้เหมือนนักกีฬา จบก็จับมือกัน เพราะความสามัคคีความเหนียวแน่นระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันถือว่าสำคัญ เสถียรภาพภายในรัฐบาลแต่ละพรรคแต่ต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะพรรคที่เป็นแกนนำ เพราะพรรคแกนนำถือว่าเป็นกระดูกสันหลังใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้น ถ้ามีปัญหาอะไรที่ไม่เข้าใจกัน จำเป็นต้องให้ความสำคัญลำดับต้นๆ รีบจัดการแก้ไข เพราะถ้าพรรคแกนนำมีปัญหาก็อาจกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของรัฐบาลได้
- ล่าสุด เกิดปัญหาใหญ่ภายในของพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลเสียเอง
ผมคิดว่าสถานการณ์ปีที่ 4 ของรัฐบาลมันเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างจะบอบบาง มันเป็นสถานการณ์ที่ handle with care เหมือนเวลาเรายกกล่องก็จะมีเขียนคำเตือนตลอดว่า ควรยกด้วยความระมัดระวัง วันนี้รัฐบาลต้องการความนิ่งมาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตโควิด ถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพก็จะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ไปโดยปริยาย อย่างประชุมสภาผู้แทนราษฎร เวทีสำหรับถกหาแนวทาง หาวิธีแก้ปัญหา แต่ภาพวันนี้ประชุมไม่ได้ องค์ไม่ครบก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว แค่เรื่องพื้นฐานยังทำไม่ได้ นอกจากกระทบความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังกระทบต่อกลไกมาตรการต่างๆ กระทบต่อแนวร่วมที่รัฐบาลจะใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย
ดังนั้น วันนี้เสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับปีที่ 4 ในการอยู่ครบเทอม เพราะต้องยอมรับปัญหาพื้นฐานของรัฐบาลนี้ตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง อยู่ที่มาร์จิ้นของเสียงฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างแคบ ไม่ได้แตกต่างกับฝ่ายค้านมากนัก แม้ต่อมาจะมีเรื่องยุบพรรค ทำให้ได้เสียงมาเพิ่ม แต่ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ และกระทบต่อเรื่องการประชุมสภามาโดยตลอด ผมเคยพูดไว้ จากประสบการณ์ที่อยู่การเมืองมา ถ้า 500 ตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับเสถียรภาพรัฐบาล ดีต่อประชาธิปไตย อย่างน้อยต้องมี 300 เผื่อไว้ซัก 50 คน เพราะธรรมชาติของ ส.ส.บางทีก็เยี่ยมชาวบ้าน ป่วยบ้าง มีประชุม กมธ.บ้าง ดังนั้น ตัวเลขก็มีความสำคัญ แต่ขณะนี้ตัวเลขของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนัก อย่างที่ผมบอก ถ้ามีปัญหาอะไรที่ไม่เข้าใจกันก็ต้องรีบจัดการแก้ไข
- นอกจากเรื่องเสถียรภาพ อีก 1 ปีรัฐบาลควรโฟกัสเรื่องใดเป็นพิเศษ
ถ้าไม่มีเรื่องเสถียรภาพ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ แม้สถานการณ์โควิดจะมีโอมิครอนที่ว่ากันว่าระบาดง่าย แต่เมื่อดูตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พบว่ายังไม่ได้สูงเท่ากับเมื่อตอนระบาดใหม่ๆ เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิตก็ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลจากความคุ้นชินของประชาชนในการดูแลตัวเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างกันเป็นมาตรฐาน รวมไปถึงภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น สถานการณ์แบบนี้มันถือว่าเป็นบวกกับประเทศไทยในเรื่องการควบคุมโควิด เพราะเมื่อโควิดคุมได้ จะทำให้มาตรการทางเศรษฐกิจแรงๆ ดำเนินการไปได้ โดยไม่มีอะไรมารบกวนความเชื่อมั่น
เมื่อวันนี้สมดุลการบริหารในเรื่องเศรษฐกิจ และมุมสาธารณสุขได้ รัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นจากภายใน อย่างการท่องเที่ยวมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันก็ต้องทำต่อไป ให้คนไทย 60 ล้าน ใครมีกำลังก็ช่วยกัน ขณะที่รัฐบาลก็ซับพอร์ต เพื่อทดแทนตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 40 ล้านคนต่อปีที่หายไป ขณะที่ในเรื่องของข้าวยากหมากแพงต้องดูแลกันอย่างเข้มเลย เพราะผลกระทบจากโควิด คนที่บอบบางที่สุดก็คือคนระดับรากหญ้า นอกจากเจอปัญหาเรื่องตกงานแล้ว ค่าครองชีพยังสูงขึ้น จากสินค้าหลักที่เขาต้องซื้อทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร หมู ไก่ ไข่ไก่
อย่างหมูแพง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข อย่าปล่อยให้ซ้ำเติม เมื่อมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องอย่าปล่อยให้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ มาเพิ่ม ต้องไม่ทำให้เรื่องหมูๆ เป็นเรื่องยาก ต้องแก้ไขได้ เพราะถือว่าเป็นปัญหาที่เราควบคุมได้ ไม่เหมือนโควิดที่เป็นเรื่องระดับโลก หมูเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เราควบคุมได้ตั้งแต่การผลิต ปริมาณ การกักตุน หรือแม่หมู ต้นทุนอาหารสัตว์ ภาษีหรือการนำเข้า เพื่อดึงสินค้าให้ลดลงมาเป็นการชั่วคราว ถ้าแค่เรื่องนี้ทำไม่ได้ เรื่องหมูจะไม่หมู แล้วมันจะลามไปเรื่องอื่น ไก่ ไข่ไก่ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องรีบจัดการ
ผมคิดว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าบริโภคอย่างเดียว ยังมีราคาน้ำมันด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว บางกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา เริ่มมีการใช้น้ำมันกัน ดังนั้น ปีนี้ราคาน้ำมันอาจกลับขึ้นมาเป็น 100 เหรียญ ได้ และราคาน้ำมันอาจจะเป็นตัวแปรขึ้นมาอีก แล้วจะส่งผลต่อการบริหารราคาก๊าซ ก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำค่าไฟอีก ฉะนั้น ตอนนี้ส่วนตัวเห็นใจรัฐบาลมาก ปัญหาต่างๆ มีเยอะ ก็อยากให้มีเสถียรภาพทางการเมืองเข็มแข็ง เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาของประเทศในช่วง 1 ปีสุดท้าย ไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำเติมอีก
- สถานการณ์วันนี้กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มที่แล้ว
วันนี้ทุกพรรคได้เตรียมตัวแล้ว แม้อายุรัฐบาลจะอยู่ได้อีก 1 ปี แต่ต้องยอมรับว่าการเมืองช่วงนี้เหมือนขับรถออกจากบ้านที่ไม่รู้จะมีอุบัติเหตุเมื่อไหร่ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราไม่รู้ บางทีเราไม่ประมาท แต่ก็มีคนอื่นมาชนเราได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าขณะนี้เป็นบรรยากาศที่ทุกพรรคการเมืองก็เตรียมความพร้อม มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ มันก็เป็นบรรยากาศที่รองรับการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ทราบชัดเจนเท่านั้นว่าจะมีเลือกตั้งกันเมื่อไหร่ แต่หากโควิดจบภายในอีก 1 ปีจากนี้ และระหว่างทางเราก็กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่แล้ว ผมไม่ทราบว่าจะเป็นใคร แต่ส่วนตัวอยากให้บรรยากาศหลังเลือกตั้ง เป็นบรรยากาศของโพสต์โควิด สร้างประเทศไทยยุคใหม่ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะพาประเทศไทยเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจใหม่ในอนาคต
- อะไรคือ ‘โพสต์โควิด’ ที่ประเทศไทยควรจะเดินไป
โพสต์โควิดถือว่าสำคัญมาก เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ หลังเดือดร้อนจากโควิดมา 2 ปี จากที่เคยอยู่ในห้องไอซียู วันนี้กลับมาพักที่บ้าน ทำร่างกายให้แข็งแรงเตรียมพร้อม พอหลังเลือกตั้งก็เป็นฉากทัศน์ใหม่ของโพสต์โควิด ดังนั้น เราต้องมองให้ออกว่า เน็กซ์นอร์มอลของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าวันนี้มีหลายเรื่องที่ท้าทายเศรษฐกิจโลกอยู่ และมันหนีไม่พ้นที่จะท้าทายรัฐบาลใหม่ด้วย อย่างเรื่องโลกร้อน คาร์บอนไดออกไซด์หรือซีโอทู ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก นำไปสู่ข้อตกลงของโลกในการร่วมมือกันรักษาระบบนิเวศ จนนำไปสู่กติกาทางการค้า ดังนั้น ถ้าเรามองไม่ออก ไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ปรับฐานการผลิต เราจะเดือดร้อนส่งออกไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องเทคโนโลยี เราจำเป็นต้องปรับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่วันนี้เราลดลงเรื่อยๆ เพราะปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เราไม่ทันเขา เราต้องปรับฐานทางด้านเทคโนโลยีในทุกมิติ สิ่งเหล่านี้ท้าทายสังคมไทยอยู่มาก
นอกจากซีโอทู เทคโนโลยีแล้ว ยังมีเรื่องเขตภูมิรัฐศาสตร์อีก จะเห็นได้ว่าจุดที่ตั้งของประเทศไทย อยู่ท่ามกลางวงล้อมของกลุ่มการค้าต่างๆ ถึง 6-7 กลุ่ม ดังนั้น ต้องตัดวางโพสิชั่นของประเทศใหม่ มี
นโยบายการต่างประเทศที่เหมาะสม ท่ามกลางกลุ่มการค้าต่างๆ เหล่านี้ ถ้าปรับทันเราอาจได้เป็นเกตเวย์ เป็นประตูให้ประเทศไทยโกอินเตอร์ เป็นเกตเวย์สู่แปซิฟิก มีระบบคมนาคม เชื่อมการค้าการลงทุนเข้ามา ฉะนั้น แพลตฟอร์มใหม่ช่วยบูมประเทศเราได้ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ และมีนโยบายร่วมกันดีๆ มีการปรับโครงสร้างภาษีที่เสริมกำลังของประเทศ เปิดกว้างให้นำเทคโนลียีเข้ามาได้ เพื่อสร้างสตาร์ตอัพใหม่ๆ และที่สำคัญเราต้องรบบนจุดแข็ง 2 เรื่อง คือ การนำการเกษตรกับการท่องเที่ยวมาใช้ และเติมเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเข้าไป เพื่อให้เป็นจุดแข็ง เพิ่มตลาดใหม่ๆ เพิ่มความหลากหลาย ทำให้เป็นไฮเอนด์โปรดัก เช่นเดียวกับการเกษตร เราต้องมีมาสเตอร์แพลนได้แล้วว่าภายในปีนี้นับตั้งแต่วันนี้ จะทำให้บิ๊กไฟว์ในการส่งออกของเรา ทั้งข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งออกเป็นสินค้าแปรรูปทั้งหมด เพิ่มมูลค่าเป็น 10 เป็น 100 เท่าได้ แล้วคนกลาง ผู้ประกอบการขนาดกลาง ซัพพลายเชนภายในประเทศ จะเกิดขึ้นมหาศาลเลย
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมอยากเห็นพรรคการเมืองต่างๆ ช่วยกันเสนอวิสัยทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจดีๆ เพื่อมาร่วมมือกัน และเริ่มได้ทันทีหลังเลือกตั้งครั้งหน้า
- มองกันว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเครื่องยนต์ทางการเมืองไม่เกิดก่อน
ใช่ ต้องเข้าใจว่าการเมืองคือตัวแทนประชาชนที่เลือกเข้ามาบริหาร กำหนดนโยบาย ถ้าเกิดว่าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีคนเก่ง การเมืองไม่มีนโยบายดีๆ มันก็ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา จึงต้องพยายามส่งเสริมให้พรรคการเมืองนำเสนอคนดีๆ นโยบายดีๆ หลังเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดเสถียรภาพเข้มแข็ง การเมืองต้องมีความร่วมมือกัน ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นพวกเดียวกันไปหมด แต่เราไม่ขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว ผมว่าบรรยากาศจะเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศ
ส่วนตัวผมอยู่กับการเมืองมานาน วันที่ผมเล่นการเมืองใหม่ๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว การเมืองน่ารัก เป็นพี่เป็นน้อง พูดคุยกันได้ มีความร่วมมือกัน แบ่งบทบาทกันได้ ไม่มีขั้วทางการเมือง ผมคิดว่าเรามีขั้วการเมืองมาแล้ว 10 กว่าปี แล้วขั้วการเมืองก็มีผลให้เกิดการเผชิญหน้า ความขัดแย้งนำไปสู่การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เห็นชัดๆ เช่น การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เรามีเสียงไม่เพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน วันนี้เราบอบชำกันมาเยอะ พี่น้องประชาชนคาดหวังประเทศ ฉะนั้น การเมืองต้องมีความร่วมมือกัน บางทีก็คิดถึงคำพูดท่าน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ การเมืองจบเป็นยกๆ ยุบสภาก็ลบเทปว่ากันใหม่ ผมหวังแบบนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าใครแพ้ชนะ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันตัดสินใจ
- กติกาทางการเมืองต้องแข่งขันกันได้ด้วย
กติกาต้องพยายามให้เกิดความยุติธรรม ให้เกิดความเป็นธรรม อย่าให้เกิดความเหลื่อมล้ำ กรรมการที่ตัดสินต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เพื่อให้คนทุกคนได้รับการยอมรับ ทำให้พรรคการเมืองก็ยอมรับผลคำตัดสิน ประชาชนก็เห็นด้วยกับผลการตัดสิน การเมืองก็จะชอบธรรม พอบรรยากาศดีมีความเป็นธรรมก็จะเป็นพื้นฐานไปถึงเสถียรภาพทางการเมืองด้วย
อย่างการเลือกตั้งครั้งต่อไป ชัดเจนแล้วว่าจะเป็น
กติกาเลือกตั้งตามที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะกลับมาใช้บัตร 2 ใบ ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นเป็น 400 ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์จะลดลงเหลือ 100 คน ผมคิดว่ามันมีนัยยะต่อผลแพ้ชนะ ทำให้พรรคการเมืองต้องปรับยุทธศาสตร์ เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ชอบ พรรคที่ชอบ รวมถึงแคนดิเดตนายกฯที่ชอบได้ โดยมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่พี่น้องประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจ
- กติกาที่เป็นทางออก ขณะนี้มีความผันผวนมาก เพราะกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ รัฐบาลควรบริหารจัดการอย่างไร เผื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
วันนี้เมื่อรัฐธรรมนูญแก้แล้ว ก็เป็นกติการะดับหนึ่ง ก็ต้องเร่งรัดทำกฎหมายลูก ถ้าเราพยายามอย่าให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก่อนกฎหมายลูกผ่านมันก็หมดปัญหา ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนกฎหมายลูกจบ ก็ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ ส่วนตัวเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าจะมีอุบัติเหตุก็ช่วยกันประคับประคองให้กฎหมายลูกจบจะได้นำไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างไม่มีปัญหา ถ้าเกิดกฎหมายลูกไม่เสร็จ มันอาจจะมีประเด็นทางกฎหมายขึ้นมา ว่าจะใช้กติกาอะไรควบคุม ดังนั้น ต้องพยายามผลักดันให้กฎหมายลูกเสร็จ
อย่างน้อยถ้ามีอุบัติเหตุ เราก็ได้จัดการทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว