วันนี้ (10 ก.ค.65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน โดยระบุว่าจากการประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 11-15 ก.ค.65 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พะเยา (อ.เชียงคำ ปง และภูซาง) จ.ลำปาง (อ.งาว แจ้ห่ม เมืองปาน และวังเหนือ) จ.แพร่ (อ.ร้องกวาง วังชิ้น และสอง) จ.พิษณุโลก (อ.นครไทย) จ.เพชรบูรณ์ (อ.เมืองเพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี และหล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย (อ.ด่านซ้าย และปากชม) จ.หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) จ.อุดรธานี (อ.กุมภวาปี ทุ่งฝน นายูง น้ำโสม บ้านดุง บ้านผือ พิบูลย์รักษ์ เพ็ญ วังสามหมอ สร้างคอม และหนองหาน) จ.หนองคาย (อ.ท่าบ่อ เฝ้าไร่ โพธิ์ตาก โพนพิสัย เมืองหนองคาย รัตนวาปี สระใคร และสังคม) จ.สกลนคร (อ.กุดบาก คำตากล้า เจริญศิลป์ นิคมน้ำอูน บ้านม่วง ภูพาน วานรนิวาส วาริชภูมิ ส่องดาว และอากาศอำนวย) จ.ยโสธร (อ.กุดชุม ทรายมูล ป่าติ้ว เมืองยโสธร และเลิงนกทา) จ.ชัยภูมิ (อำเภอเทพสถิต หนองบัวแดง และเกษตรสมบูรณ์) จ.ขอนแก่น (อ.เขาสวนกวาง ชนบท เมืองขอนแก่น และอุบลรัตน์) จ.กาฬสินธุ์ (อ.เขาวง คำม่วง นาคู สมเด็จ และสามชัย) จ.ร้อยเอ็ด (อำเภอโพนทอง และหนองพอก) จ.อำนาจเจริญ (อ.ชานุมาน พนา เมืองอำนาจเจริญ ลืออำนาจ และหัวตะพาน) จ.นครราชสีมา (อ.เมืองยาง) จ.อุบลราชธานี (อ.เขมราฐ โขงเจียม ตระการพืชผล ตาลสุม นาจะหลวย นาตาล พิบูลมังสาหาร โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ศรีเมืองใหม่ และสิรินธร)
ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง (อ.กระบุรี กะเปอร์ และเมืองระนอง) จ.ชุมพร (อ.พะโต๊ะ และเมืองชุมพร) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ) จ.พังงา (อ.คุระบุรี)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และแม่น้ำตาปี
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณ ภาคเหนือ (ลำปาง น่าน และพะเยา)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก (ตราด) ภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี)