กรมหลวงชุมพร หรือเสด็จเตี่ย มีประวัติอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงเป็นที่เคารพศรัทธาในหมู่ทหารเรือไทย เรารวมคำตอบไว้ให้ที่นี่
ประวัติ กรมหลวงชุมพร
กรมหลวงชุมพร มีชื่อเต็มว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมหลวงชุมพร ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในปี พ.ศ. 2436 ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในปี พ.ศ. 2439 ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ
ต่อมา กรมหลวงชุมพร ได้เสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ “กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือในปี พ.ศ. 2449 พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต เพื่อประสงค์ให้นักเรียนนายเรือสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กรมหลวงชุมพร ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น “วันกองทัพเรือ”
นอกจากคุณูปการอเนกอนันต์แก่กองทัพเรือแล้ว กรมหลวงชุมพร ยังมีพระปรีชาสามารถในด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย โดยในปี พ.ศ. 2454 ทรงออกจากราชการเป็นเวลา 6 ปีเศษ เพื่อทรงศึกษาตำราหมอยาไทยอย่างจริงจัง จนมีความรู้แตกฉาน ทรงเป็นหมอยาไทย และเสด็จไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้กับประชาชนด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็ง มีความซาบซึ้ง ในพระกรุณาธิคุณ และได้เรียกพระองค์ท่านว่า “เตี่ย” ซึ่งหมายถึงพ่อ ทำให้ในเวลาต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” สำหรับในหมู่คนไข้ชาวไทย ที่พระองค์รักษานั้น มักจะเรียกขานนามพระองค์ว่า “หมอพร”
ในปี พ.ศ. 2460 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2462 ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษให้ดำเนินการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษ และทรงเป็นผู้บังคับการเรือนำเรือหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษกลับมายังประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 พระองค์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือและหน่วยกำลังรบต่างๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน
กรมหลวงชุมพร กับความศรัทธาของทหารเรือไทย
ด้วยคุณูปการที่กรมหลวงชุมพรมอบให้กับทหารเรือไทย จึงทำให้เหล่าทหารเรือยกย่องให้กรมหลวงชุมพรเป็น “องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ” เนื่องจากพระองค์ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่กองทัพเรือและประเทศชาติ โดยทรงวางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ภายในกองทัพเรือ จนทำให้ทัพเรือไทยมีความทันสมัย มีมาตรฐาน และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศมาจวบจนทุกวันนี้
ขณะเดียวกัน ยังมีความเชื่อศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับ กรมหลวงชุมพร หรือเสด็จเตี่ย ในหมู่ทหารเรือไทยและคนทั่วไปว่า ถ้ามาขอพรจากท่านเเล้วจะได้รับความเมตตาทุกเรื่อง เพราะตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านทรงช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพท่านทรงรักษาประชาชนโดยไม่ต้องเสียเงินรักษา และท่านทรงปฏิบัติราชการในราชนาวีไทย การตั้งศาลองค์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ก็เชื่อกันว่าท่านจะปกปักรักษาลูกหลานเวลาออกเรือประมงให้ปลอดภัยจากอันตราย
ข้อมูลอ้างอิง : กองทัพเรือ