วันนี้ ( 18 ก.พ.64 ) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19 ) เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาทบทวนผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม และพื้นที่ โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 22 ก.พ.64 เพื่อปรับลดพื้นที่ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จาก 5ระดับ เหลือ 4 ระดับ โดยไม่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุด ดังนี้ 1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) มีสมุทรสาครจังหวัดเดียว 2. พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 20 จังหวัด ละเหลือ 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก ราชบุรี
3. พื้นที่เฝ้าระวังสูง ( สีเหลือง) จาก 17 จังหวัด ลดเหลือ 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา นราธิวาส 4. พื้นที่เฝ้าระวัง จาก 35 จังหวัด เพิ่มเป็น 54 จังหวัด ทั้งนี้ การปรับโซนสีดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากข้อร้องขอจากจังหวัด ที่ระบุว่าไม่อยากให้ปรับลดโซนสีเร็วเกินไป เพราะอาจกระทบต่อการควบคุมพื้นที่ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ยังต้องรอผ่านการอนุมัติจาก ศบค.ชุดใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการในประเทศ แต่ ศบค.ยังคงเข้มงวดการตรวจหาเชื้อ และกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าผู้เดินทางจะผ่านการตรวจหาเชื้อจากประเทศต้นทางมาแล้ว โดยวันนี้ตรวจพบผู้มาจากต่างประเทศติดเชื้อ 8 คน โดยผู้เดินทางทางจากประเทศปากีสถาน และบังคลาเทศ ตรวจพบเชื้อในวันที่ 5 ผู้เดินทางมาจากไนจีเรีย พบเชื้อวันที่ 4 ขณะที่ผู้เดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้ 2 คน และบาห์เรน 2 คน ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรก หรือ day 0 ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ไม่สามารถลดจำนวนวันในการกักตัวลงจาก 14 วันได้
นอกจากนี้ ศบค.ยังได้ให้ความสำคัญกับแผนบริหารวัคซีน เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่คนไทยแต่รวมถึงคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักถาวรในไทย และแรงงานต่างชาติที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทยด้วย โดยวัคซีนล็อตแรกจะเข้ามาในวันที่ 24 ก.พ.64 จากนั้นจึงจะเริ่มทยอยนำเข้าและผลิตในประเทศ ส่วนภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ จะได้รับวัคซีนในเฟสที่ 2
สำหรับประเด็นข้อสงสัยว่า ทางภาคเอกชนจะสามารถจัดหาวัคซีนเองได้หารือไม่นั้น โดยหลักการทาง ศบค.เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขสำคัญประกอบด้วย เช่น ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เป็นลักษณะโรงพยาบาล มีแพทย์ และมีบริการรองรับภาวะฉุกเฉินได้ หากการฉีดวัคซีนแล้วเกิดการแพ้ ต้องมีการให้ความช่วยเหลือกู้ชีพที่มีมาตรฐาน นอกจากนี้ วัคซีนต้องมีที่มาที่ไป คือ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา