“ล้งจีน” แห่ลงทุนปลูกทุเรียน-ตั้งโรงงานแปรรูปที่ชุมพร ด้านสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนใต้ปี 2564 ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม 40,000 ไร่
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.ที่ 5 สงขลา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมเพื่อคาดการณ์การปลูกและปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ 4 ตัวของภาคใต้ในปี 2564 เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง
เพื่อเตรียมแนวทางบริหารจัดการทางด้านการตลาดตั้งแต่ต้นฤดู โดยเฉพาะทุเรียนจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศ น้ำฝนดีคาดการณ์ว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 360,000-400,000 ตัน จากพื้นที่ปลูกประมาณ 600,000 ไร่
โดยปีที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 ไร่ เนื่องจากตลาดส่งออกประเทศจีนผู้บริโภครายใหญ่มีแนวโน้มที่ดี และล่าสุดมีออร์เดอร์จองเข้ามาแล้ว และราคาในปี 2564 คาดว่าใกล้เคียงกับปี 2563 อยู่เฉลี่ยประมาณ 90-100 บาท/กก. และในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าเงินหมุนสะพัดประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ตัวเลขผลิตของทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง จะชัดเจนที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม 2564 แต่ปัจจุบันมีการผลิตทุเรียนนอกฤดูกาลจำนวนมากด้วย โดยแหล่งผลิตรายใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกประมาณ 20,000 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 5,000 ตัน-6,000 ตัน/ปี เก็บเกี่ยวไปประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563
แหล่งข่าวจากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักลงทุนที่เป็นล้งจีนได้เข้ามาลงทุนธุรกิจทุเรียนในจังหวัดชุมพรจำนวนมาก ทั้งลงทุนทำสวนทุเรียน ลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน สำหรับโรงงานทุเรียน
โดยภาพรวมมีไม่ต่ำกว่า 100 โรง ทั้งโรงงานทุเรียนแปรรูป และโรงงานทุเรียนสด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานทุเรียนสด เนื่องจากมีการส่งทุเรียนสดเป็นส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% ไปประเทศจีน และอีกประมาณ 10% เป็นโรงงานแปรรูป ทั้งนี้โรงงานจะมีการรับซื้อทุเรียนจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนการลงทุนทำสวนทุเรียน นักลงทุนจากประเทศจีน ได้หาพื้นที่ปลูกขั้นต่ำรายละ 50-100 ไร่
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ภาวะทุเรียนไทยในปี 2564 คาดว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 837,290 ไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 1,283,593 ตัน โดยมีผลผลิต 1,533 กก./ไร่ เทียบกับปี 2563 มีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ 791,165 ไร่
และผลผลิตประมาณ 1,111,928 ตัน และผลผลิต 1,405 กก./ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.83 โดยปีนี้เกษตรกรที่เคยปลูกพืชอื่น เช่น ลองกอง เงาะ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการตลาดในปี 2564 คาดว่าความต้องการบริโภคทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ มีปริมาณ 513,437 ตัน
เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.89 และตลาดส่งออกปี 2564 คาดว่าการส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ จะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ11.64 โดยมีปริมาณ 761,659 ตัน (คิดเป็นตันสด 770,156 ตัน) แยกเป็นทุเรียนสด 731,648 ตัน ทุเรียนแช่แข็ง 27,902 ตัน ทุเรียนอบแห้ง 231 ตัน และทุเรียนกวน 1,284 ตัน
ทั้งนี้ เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดจากไทย ประกอบกับการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของจีนที่รองรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น จึงช่วยให้ผู้บริโภคของจีนในมณฑลต่าง ๆ เข้าถึงการบริโภคทุเรียนได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการขยายการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งไปยังตลาดอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ทางด้านราคาในปี 2564 คาดว่าราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯและราคาส่งออก มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2563
สำหรับทุเรียนไทยความต้องการของตลาดจีนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกทุเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.62 ต่อปี และมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 34.31 ต่อปี และในปี 2563 มูลค่าการส่งออกได้ปรับเพิ่มขึ้น
จากปี 2562 ประมาณร้อยละ 44.14
เนื่องจากความต้องการของตลาดจีนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 ได้เกิดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การขนส่งและการกระจายสินค้าในตลาดจีนเกิดความล่าช้า จากการเปิด-ปิดด่านนำเข้า และปิดเมืองต่าง ๆ ทำให้มีปัญหาด้านการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งจากทางบกไปส่งออกทางเรือแทน
นอกจากนี้ ภาครัฐได้เตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่อาจล้นตลาดและส่งออกไม่ได้ ทั้งมาตรการการกระจายผลผลิตภายในประเทศ การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เช่น การทำตลาดออนไลน์ เป็นต้น และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง จึงทำให้การกระจายผลผลิตภายในประเทศและการส่งออกกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
และไม่ได้รับผลกระทบมากนัก รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และขยายตลาดผลไม้ไทยในจีน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมกับบริษัทผู้นำเข้าจีน จึงทำให้ตลาดทุเรียนของไทยขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองรองที่ไม่ใช่เมืองหลักในการนำเข้าผลไม้จากไทย เช่น เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน เมืองจี่หนาน เมืองชิงเต่า เมืองซีอานในมณฑลชานตง เป็นต้น
และในขณะนี้ ระบบโลจิสติกส์ของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงช่วยรองรับระบบการขายออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจีนที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนได้มากขึ้น