กรอ.จังหวัดชุมพรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ตั้งเป้าปี 2564 ดัน GPP มูลค่า 1 แสนล้านบาท ชูเรือธงภาคเกษตร-ปศุสัตว์ โดยเฉพาะ “ทุเรียน-ปาล์ม-ยางพารา-มังคุด-มะพร้าว” รุกตลาดส่งออก พร้อมยกระดับทำุมพรตลาดผลไม้พรีเมี่ยมออนไลน์ อัดส่งเสริมท่องเที่ยว nightlife ดึงพักค้างคืนเพิ่ม
นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.จังหวัดชุมพร) ซึ่งมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธาน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร โดยผู้ว่าฯมีนโยบายที่จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ชุมพร ปี 2564 เป็น 1 แสนล้านบาท เทียบกับคาดการณ์ปี 2563 GPP มีมูลค่า 90,591 ล้านบาท โดยจะใช้การผลิตภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวทำรายได้ให้จังหวัดจำนวนมาก โดยเฉพาะ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา
“คาดการณ์เศรษฐกิจชุมพรปี 2563 ต่ำกว่าปี 2562 เนื่องจากโควิด-19”
ปี 2562 จังหวัดชุมพรมี GPP มูลค่า 94,203 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.86 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีเฉลี่ย 208,835 บาทต่อคนต่อปี โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจสำคัญปี 2562 ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การผลิตภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 48.77 คิดเป็นมูลค่า 45,943 ล้านบาท ภาคบริการและท่องเที่ยว มีสัดส่วนร้อยละ 41.40 คิดเป็นมูลค่า 39,000 ล้านบาท
และภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 9.83 คิดเป็นมูลค่า 9,260 ล้านบาทขณะที่คาดการณ์โครงสร้างทางเศรษฐกิจปี 2563 การผลิตภาคเกษตรกรรม คาดการณ์มีมูลค่า 47,375 ล้านบาท ภาคบริการและท่องเที่ยว คาดการณ์มีมูลค่า 34,632 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์มีมูลค่า 8,584 ล้านบาท”
สำหรับยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาจังหวัดชุมพร ในปี 2564 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญในภาคเกษตร ตั้งเป้าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.24 โดยจะเพิ่มการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ
โดยเฉพาะทุเรียนจะปลูกเพิ่มร้อยละ 37 เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 207,723-295,000 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกยางพารา ร้อยละ 9.3 เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 117,490 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 15.5 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 2,704,712.40 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกมะพร้าว ร้อยละ 13 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 146,731.6 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกมังคุด ร้อยละ 10 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 35,339.3 ตันต่อปี เพิ่มการปลูกกาแฟ ร้อยละ 12 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 12,517.5 ตันต่อปี
เพิ่มการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ร้อยละ 30 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 16,826.40 ตันต่อปี เพิ่มการเลี้ยงไก่เนื้อ, ไก่ไข่ ร้อยละ 1.5 ให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 2,064,624 ตัวต่อปี และส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับภาคบริการและท่องเที่ยว ตั้งเป้าจะมีรายได้เพิ่มร้อยละ 37.92 โดยจะเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวร้อยละ 30 หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 592,224 คนต่อปี เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อย (SMEs) ภาคบริการเป็น 76 ราย หรือร้อยละ 1 เพิ่มยอดขายปลีกและส่งสินค้า ร้อยละ 10.08 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,704 ล้านบาทต่อปี
ส่วนภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.84 โดยเพิ่มผู้ประกอบการอีก 7 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5
นอกจากนี้ทางจังหวัดได้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดระยะสั้น ประกอบด้วย 5 แผนหลัก ได้แก่ 1.จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเน้นเรื่องกิจกรรมยามค่ำคืน (nightlife) เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนมากขึ้น 2.ดึงงบประมาณส่วนท้องถิ่นมาจัดสร้างตลาดและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่
โดยเน้นการใช้ทรัพยากรและความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ 3.การเชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง 4.การสร้างและยกระดับตลาดสินค้าเกษตรของชุมพรให้มีความพรีเมี่ยมในตลาดต่างประเทศ บนแพลตฟอร์มการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะผลไม้ และ 5.เพิ่มบทบาทของสถาบันการศึกษาในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล
สำหรับแผนระยะยาว ประกอบด้วย 5 แผนหลัก ได้แก่ 1.การสร้างฐานข้อมูลหนึ่งเดียวของชุมพรที่มีความก้าวหน้าและทันสมัย เพื่อรองรับการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในอนาคต 2.สร้างการรับรู้และการเตรียมความพร้อมให้สถาบันครัวเรือน สถาบันการศึกษา
สำหรับงานและอาชีพในอนาคตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 3.ยกระดับสินค้าเกษตรพรีเมี่ยมไปยังกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ 4.เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ 5.กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริงและลดบทบาทของหน่วยงานรัฐในส่วนภูมิภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจังหวัดชุมพร รายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2563 ว่า เศรษฐกิจจังหวัดชุมพร ปี 2563 คาดการณ์ว่า ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0-2.7) จากการขยายตัวด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม สำหรับภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ขณะที่ภาคบริการหดตัว ด้านอุปสงค์หดตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวด้านอุปทานมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 6.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.1-6.9)
ภาคเกษตรกรรม คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 33.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 32.8-33.7) ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไก่เนื้อ/ไก่ไข่ เนื่องจากตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง และราคาปรับเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ส่งผลให้ดัชนีรายได้ภาคเกษตรขยายตัว สำหรับกุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 0.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.1-0.7) ตามการขยายตัวของจำนวนโรงงาน และทุนจดทะเบียน สำหรับภาคบริการหดตัวร้อยละ -5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ (6.0)-(5.2)) สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงแรม จำนวนผู้ป่วยใน-นอก และยอดขายสินค้าปลีกและส่งลดลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19