ไทยติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย เสียชีวิตอีก 233 ราย คร่าเด็ก 7 เดือน-หญิงตั้งครรภ์ กทม.ยังหนักป่วยเพิ่ม 4.3 พันราย สธ.ชง ศบค.ยกระดับมาตรการสกัดแพร่เชื้อในตลาด ตรวจเชิงรุกผู้ค้า-ลูกจ้าง-ชุมชนโดยรอบ สปสช.ปรับเกณฑ์ค่ารักษา HI-CI เริ่ม 1 ก.ย. นิด้าโพลชี้รอบนี้ระบาดหนักจาก ปชช.ประมาท-วัคซีนไม่พอ นครพนมวุ่นเจอคลัสเตอร์แม่ค้าขายผัก
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 12.30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,808 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,428 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,380 ราย มาจากเรือนจำ 196 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,049,295 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 20,672 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 839,639 ราย อยู่ระหว่างรักษา 200,339 ราย อาการหนัก 5,239 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,117 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 233 ราย เป็นชาย 140 ราย หญิง 93 ราย อยู่ใน กทม.มากสุด 71 ราย มีผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุด 7 เดือน 1 ราย อยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย อยู่ที่ กทม. รวมถึงมีผู้เสียชีวิตที่บ้านและอยู่ระหว่างการนำส่งโรงพยาบาล 4 ราย อยู่ที่ กทม. 2 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย และชุมพร 1 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 มีจำนวน 9,320 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,399 ราย สมุทรสาคร 1,499 ราย ชลบุรี 1,092 ราย สมุทรปราการ 749 ราย นนทบุรี 690 ราย นครปฐม 638 ราย ราชบุรี 560 ราย ฉะเชิงเทรา 488 ราย นครราชสีมา 484 ราย สระบุรี 390 ราย อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลการตรวจแบบ ATK ของวันที่ 22 ส.ค. มีผลบวก 2,039 ราย โดยจำนวนนี้จะยังไม่นับรวมกับยอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายวัน เนื่องจากต้องตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ก่อน หากผลยืนยันเป็นบวกจึงจะนำไปรวมกับยอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ในภายหลัง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ พบว่าในส่วนของพื้นที่สีแดงเข้มโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสดและตลาดนัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ส.ค.พบการติดเชื้อใน 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน สธ.จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาด ซึ่งที่ประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมจะได้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด ประกอบด้วยมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน, ป้องกันสถานที่ (ตลาด) และจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค โดยจะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ค้า, ลูกจ้าง, แรงงานที่เดินทางเข้าออก, ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และมีการสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาด ดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด โดยแบ่งดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ดำเนินการใน 9 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ราชบุรี, ชลบุรี, นครราชสีมา, สงขลา และสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ (500 แผงขึ้นไป) ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาด รวม 27 แห่ง ระยะที่ 2 ดำเนินการตรวจพื้นที่ตลาดทุกขนาดในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง และระยะที่ 3 ดำเนินการครอบคลุมตลาดทุกขนาดในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด รวมตลาด 683 แห่ง
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด มีการสำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุกอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป นอกจากดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว ตามมาตรการนี้จะมีการให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การมีแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณีผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก
รองโฆษกประจําสํานักนายกฯ กล่าวด้วยว่า นายกฯ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการป้องกันการรวมกลุ่มจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มั่วสุมในแหล่งอบายมุข ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจให้เกิดกิจกรรมมั่วสุมจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.64 สปสช.ได้จัดประชุมชี้แจงระบบการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในระบบชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเดิม สปสช.จ่ายค่าดูแลรักษา HI หรือ CI แบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน จึงมีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป หน่วยบริการเบิกค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยแบบไม่รวมค่าอาหาร จะเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/วัน แต่หากหน่วยบริการไหนที่จัดบริการโดยจัดหาอาหารแก่ผู้ป่วยด้วย ให้เบิกในอัตราเดิมคือ 1,000 บาท/วัน นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังเพิ่มรายการจ่ายเพิ่มเติมคือค่าออกซิเจนในอัตรา 450 บาท/วัน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทำไม COVID-19 รอบนี้ระบาดหนัก” จากการสำรวจเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างมาก พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.75 ระบุว่าประชาชนส่วนหนึ่งประมาทในการป้องกัน และประเทศมีวัคซีนไม่เพียงพอ ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 36.00 การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างช้ามาก ร้อยละ 31.43 ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกัน ร้อยละ 25.80 รัฐบาลไม่ยอมล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ ร้อยละ 21.31 สายพันธุ์เดลตาติดง่ายมาก และร้อยละ 17.73 ศบค.บริหารงานผิดพลาด
ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครพนมรายงานว่า ขณะนี้เกิดคลัสเตอร์แม่ค้าขายส่งผัก โดยแม่ค้าวัย 20 ปีดังกล่าวขายผักในตลาดสดทั้งในพื้นที่จังหวัดนครพนมและสกลนคร ซึ่งติดเชื้อจากหลานชายวัย 7 ขวบที่เดินทางมากับครอบครัวจากพื้นที่สีแดงเข้มเมื่อวันที่ 12 ส.ค. โดยแม่ของเด็กวัย 7 ขวบได้เข้ารักษาที่ รพ.แล้ว แต่ผลตรวจโควิดเด็กครั้งแรกเป็นลบ แทนที่จะกักตัวในสถานกักกันโรคของท้องที่ ปรากฏว่ากลับให้นำเด็กไปดูแลที่บ้านในพื้นที่บ้านนามน หมู่ที่ 6 ต.บ้านผึ้ง และต่อมาตรวจอีกครั้งพบว่าเด็กติดโควิด จึงนำบุคคลในครอบครัว 9 รายมาตรวจ พบว่าน้าสาวซึ่งเป็นแม่ค้าผักติดโควิด จังหวัดจึงมีคำสั่งปิดตลาดถาวรตลาดโชคอำนวย และตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม (บางส่วน) รวมทั้งตลาดสด อบต.บ้านผึ้ง และล็อกดาวน์บ้านนามน หมู่ที่ 6 ต.บ้านผึ้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่วันที่ 22-24 ส.ค. นอกจากนี้ได้ประกาศให้ผู้ค้าและลูกค้าที่ไปซื้อของระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค.มาตรวจหาเชื้อด่วน ขณะที่คุณยายของเด็กซึ่งเป็นแม่ค้าขายผักที่ตลาดนาโพธิ์ หากผลตรวจวันที่ 23 ส.ค.มีผลเป็นบวกก็ต้องปิดตลาดดังกล่าวยาว 14 วันเช่นกัน
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม แถลงว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 25 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยรายวันที่ต่ำสุดในรอบ 43 วัน แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงสูงวัยอายุ 66 ปี ส่วนคลัสเตอร์แม่ค้าขายผักนั้นได้สั่งการให้นายอำเภอเมืองนครพนมตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ว่าเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่เองหรือคนในครอบครัวของเด็กชายวัย 7 ขวบ.