นางดวงแข อุตทาพงษ์ เจ้าของสวนทุเรียน หมู่ 3 ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ บอกว่า เดิมตนเองเป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ หลายปีก่อนได้ไปรับจ้างเก็บกาแฟที่จังหวัดชุมพร และพบรักกับแฟนหนุ่ม ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ช่วยกันทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดินปลูกทุเรียนและผลไม้อยู่ที่จังหวัดชุมพร แต่เนื่องจากอยู่ไกลจากบ้านเกิด
จึงได้ขายสวนทุเรียนดังกล่าว แล้วกลับมาอยู่บ้านที่ จ.กาฬสินธุ์
แต่ระหว่างนั้น ตนเองก็ยังมีความสนใจหาพื้นที่ปลูกผลไม้ที่คล้ายกับพื้นที่จังหวัดชุมพร ก่อนมาพบว่า อ.น้ำหนาว มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับพื้นที่ชุมพร จึงได้หาซื้อที่ดิน 1 แปลง ลงทุนปลูกทุเรียน จำนวน 100 ต้น แต่ปีแรกไม่ประสบความสำเร็จทุเรียนตายทั้งหมด ตนเองและสามีไม่ท้อ กลับมาวิเคราะห์ทบทวนหาสาเหตุ และลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูกอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด ในช่วงกลางวันซึ่งมีอากาศร้อน ก็ได้นำสแลนมาคลุมเพื่อลดแสงแดด เมื่อถึงหน้าหนาว ซึ่งอากาศบนน้ำหนาวจะหนาวจัด ทำให้การปลูกทุเรียนที่ผ่านมาเป็นโรคใบไหม้ตายทั้งหมด แต่ครั้งนี้เมื่อถึงหน้าหนาว ตนเองได้เพิ่มการให้น้ำกับทุเรียน ปรากฏว่าทุเรียนรอดตาย เจริญเติบโตตามระยะเวลา กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 5 ทุเรียนเริ่มออกดอกและให้ผลผลิต น้ำหนักของทุเรียนเฉลี่ยประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อลูก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “น้ำท่วม” บางบ่อ เริ่มลดหลังฝนหยุดตก แต่คลองสำโรงน้ำยังมาก
- เรือประมงพักออกทะเล หลบ “พายุโกนเซิน”
- เมาไม่ขับ นอนพักในศาลเจ้า ถูก “คนร้าย” ย่องมาชิงรถ จยย.
ท่านผู้ว่าฯไกรสร กองฉลาด ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งตั้งชื่อว่า “ทุเรียนหมอนเพชรน้ำหนาว” คุณสมบัติพิเศษของทุเรียนหมอนเพชรน้ำหนาว เปลือกบาง เนื้อจะนุ่มละเอียด ไม่แข็ง ไม่เละจนเกินไป รวมทั้งมีกลิ่นหอมละมุน กลิ่นไม่ฉุน จึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้ลิ้มลอง รวมทั้งการปลูกทุเรียนในพื้นที่อำเภอน้ำหนาวไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นลักษณะเกษตรอินทรีย์ และจากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ทุเรียนจากอำเภอน้ำหนาวสามารถส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แต่ปริมาณทุเรียนในอำเภอน้ำหนาวยังคงมีจำกัด จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค ทุเรียนจะเริ่มออกผลผลิตให้ได้ชิมช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี
พันคำ เทศประสิทธิ ผู้สื่อข่าว จ.เพชรบูรณ์