เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ติดลม” มาเล่นการเมืองต่อ หลังจากเป็นหัวหน้า คสช. มาถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่าท่าน กำลัง “ติดหล่มการเมือง” เรื่องความขัดแย้งระหว่างท่านกับพรรคพลังประชารัฐ และอาจจะต้อง “จม” ลงไปในสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
1) ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีนาน จนไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร คนก็จะย้อนกลับไปว่า “แล้วทำไมท่านไม่ทำ”
เช่น เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัย คนจึงได้รู้ว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำ หลัง “น้ำท่วมใหญ่” ปี 2554 สมัยที่ท่านเป็น ผบ.ทบ. เดินตามนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
ไปตรวจสถานการณ์น้ำในหลายๆ สถานที่ เหมือน “ไม่มีอะไรก้าวหน้าขึ้นมาเลย”
น้ำยังท่วมซ้ำซาก ระบบแก้มลิงไม่เกิด โดยเฉพาะแก้มลิงใน กทม. ที่ “พงศ์พรหม ยามะรัตน์” พรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊คตั้งประเด็นชวนคิดและชวนรู้สึกว่า…
“น้ำท่วมที ข้าราชการก็ทำเป็นขยันที เอาอย่างนี้มั้ยครับเพื่อนๆ เอาโครงการที่ในหลวง ร.9 ริเริ่มแล้ว ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว คือแก้มลิงหนองบอน ในหลวงบอกว่าต้องทำเพิ่ม 5,000,000 ลบ.ม.ที่เริ่มให้ไว้ ยังไม่พอ กทม.ก็เลยเอางบลงศึกษาจนเสร็จแล้ว เป็นโครงการเร่งด่วนหลังมหาอุทกภัยปี 2554 แต่จนแล้วจนรอด 10 ปีผ่านไปก็ยังไม่ยอมทำอะไรซักที…”
กับอีกโพสต์หนึ่งของเขา คือ…
“ก่อนที่ภาครัฐจะหาเรื่องวิกฤตน้ำท่วมเสกโครงการหมื่นล้าน แสนล้านอีก ฝากท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha revisit สิ่งที่ในหลวง ร.9 ได้ฝากไว้มาเรียนรู้กันเหอะ ว่าในหลวง ร.9 พยายามช่วยเหลือราษฎรด้วย “วิทยาศาสตร์” ยังไงบ้าง? แล้วเราก็จะรักท่านด้วย “วิทยาศาสตร์”
…ผมอยากเริ่มเรื่องด้วยว่าหาดใหญ่หยุดน้ำท่วม ชุมพรหยุดน้ำท่วมได้เพราะอะไร?-คนยุคผมจะจำเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่แรงๆ ซ้ำๆ มีคนตายมากมายได้ อยู่ๆ วันหนึ่ง น้ำท่วมหาดใหญ่ก็หายไป
…น้ำท่วมหาดใหญ่หมดได้ เพราะในหลวง ร.9 สั่งการหยุดสร้างเมืองขวางทางน้ำโดยข้าราชการเลว และสั่งให้ทำคลอง by pass น้ำ จากที่สูงลงต่ำ จากวันนั้นถึงวันนี้ หาดใหญ่น้ำไม่ท่วมอีกเลย นี่คือการต่อสู้กับระบบราชการลิงหลอกเจ้าของในหลวง ร.9 ฟังดูเหมือนง่าย แต่ต้องอุทิศกำลังกาย กำลังใจเรียนรู้ ศึกษา มหาศาล ลองมาดูทีละข้อ ที่ในหลวง ร.9 ฝากไว้ แต่นายกท่านไม่พูดถึงเลย
…ป่าต้นน้ำหาย – จะคืนป่าต้นน้ำ ภูเขาให้ไวได้อย่างไร?เหตุใหญ่คือเรื่องนี้ครับ มัวแต่มาทะเลาะกันเรื่องเขื่อนแตกตรงปลายเหตุ โง่เขลาฉิบหาย ป่าในพื้นที่สูงเหล่านี้จะช่วยเก็บ และชะลอน้ำในหน้าฝน และทยอยปล่อยออกมาในหน้าแล้ง ไม่ใช่เทพรวดลงที่ราบเหมือนที่เป็น
…โยธาหมดยุค – หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะ climate change จะสร้าง pattern ฝนที่ตกลงมาไม่เหมือน 100 ปีที่แล้ว ในหลวงท่านก็ปรับยุทธศาสตร์ จากที่เคยแนะนำสร้างเขื่อน มาเป็นให้เสริมด้วยเครือข่ายแก้มลิง และหลุมขนมครกจำนวนมาก ให้กระจายอยู่ทั่วไปแทน
…ผังเมืองผิด – ในหลวง ร.9 แนะนำนักโยธา และผังเมืองว่าอย่าสร้างถนน หรือเมือง ขวางทางน้ำบ่อย ตัวอย่างเช่น ร่องน้ำกรุงเทพฝั่งตะวันตกที่มีมาหลายพันปีแล้ว ถ้าสร้างเมืองแบบเหนือลงใต้ แทนที่จะเป็นขวางตะวันตก-ตะวันออก หมู่บ้านนับร้อยก็จะไม่ต้องเจอน้ำท่วมซ้ำๆ แต่ปัจจุบันกลับทำกลับกันกับที่ในหลวงท่านเคยแนะนำ เมืองชายฝั่งแบบชลบุรี เพชรบุรีกลับน้ำท่วม เพราะสร้างเมืองขวางทางน้ำผู้ว่าฯควรพิจารณาตัวเอง กรมโยธาธิการ และผังเมืองควรยุบได้แล้วครับ ทำผิดซ้ำๆ แบบนี้
…ละทิ้งภูมิปัญญาบรรพบุรุษ – ขุดคลองเพิ่มดีกว่าสร้างเขื่อน เพื่อให้น้ำมีที่ไป บรรพบุรุษเราทำแบบนี้มาตั้งแต่สุโขทัย ยันรัตนโกสินทร์ แต่ตอนนี้ทำกลับกัน คือถมคลอง และปล่อยให้คลองตื้นเขิน
…ลิงหลอกเจ้า – ในหลวง ร.9 ให้ขุดแก้มลิง สอนแล้ว ทำให้ดูแล้ว เพราะการทำแก้มลิงนั้นใช้งบน้อย ประโยชน์มากชะลอน้ำท่วมได้ไว แต่ภาครัฐก็ไม่รีบทำ ได้แต่ทำตัวลิงหลอกเจ้า ยืนชื่นชม พูดจาแสดงความจงรักภักดี แต่ไม่สนับสนุนเพราะใช้งบน้อยไป ดูแก้มลิงกรุงเทพฯเป็นตัวอย่าง แก้มลิงสุดท้ายก็สมัยในหลวง ร.9 ท่าน
…ลองดูครับท่านนายกฯ ในหลวง ร.9 ท่านทำตำราสู้น้ำท่วมมาให้ท่านเกินครึ่งทางละ แค่เอาคนโลภ และคนเขลาที่ทำงานรอบตัวท่านออกไป ท่านก็จะเห็นอะไรดีๆ
ปล.ผมไม่มองว่าท่านนายกประยุทธ์ผิดคนเดียวนะครับ ตั้งแต่สุรยุทธ์ อภิสิทธิ์ สมชาย ยิ่งลักษณ์ ผมไม่เห็นใครจริงใจ และจริงจังในเรื่องนี้ซักคน
2) นายกฯ ประยุทธ์ริเริ่มให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ถามว่าผ่านสมัยเลือกตั้งของท่านมาสองปีกว่า เคยเห็นอะไรที่เป็น “ยุทธศาสตร์” จากท่านบ้างไหมครับ
เอาเฉพาะเรื่องน้ำ นายกฯ ลองอ่านเรื่องนี้ดูนะครับ
“…เมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้มีบุญคุณแก่ชีวิตพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เกิดมาอย่าให้ว่างเปล่า
จงคอยตอบแทน…ให้รู้สึกเสมอว่า เป็นหนี้บุญคุณ”
…ข้าพเจ้าเป็นพระราชินีมา 59 ปี ได้ตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมไปทั่วในภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นว่าทรงงานอะไรอย่างไร และที่ไหนบ้าง และได้เห็นทุกครั้งที่เสด็จไปเยี่ยมราษฎรจะทรงขับรถเอง และก็มีแผนที่อยู่ใกล้พระองค์เสมอทรงจะไปทุกหนทุกแห่ง พระองค์ท่านทำงานเกี่ยวกับเรื่องดิน และเรื่องน้ำมาตลอดหลายสิบปี ทรงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว
…หลายสิบปีก่อนนี้ เสด็จฯไปเยี่ยมประชาชนทุกภาคของประเทศ ทรงขับรถเอง หนทางก็เรียกว่ากันดารไม่ใช่น้อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำจังหวัดนราธิวาสทรงขับรถเพื่อไปดูให้เห็นจริงจังถึงการอยู่กินของราษฎรตามเขตชายแดนต่างๆ แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงติดตามงานต่างๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องปริมาณน้ำในเขื่อน ทรงห่วงประชาชนมาก เกรงว่าจะมีน้ำท่วมอีก ถ้าพอจะหาแนวทางอะไรช่วยป้องกันได้ ก็จะมีพระราชดำริให้เตรียมการกันเอาไว้ก่อน
…ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกของชาวนาชาวไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตของชลประทาน ก็ต้องพึ่งพาอาศัยฝนฟ้าจากธรรมชาติเป็นหลักปีใดฝนดีผลผลิตก็ดี ปีใดฝนแล้งพืชก็แห้งตาย ฝนมากไปน้ำก็ท่วม ปัญหาของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน ภาคเหนือเป็นดอยสูงสลับซับซ้อน มีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ดั้งเดิมเค้าก็ปลูกฝิ่น เพราะเค้าบอกเค้าไม่รู้จะทำมาหากินอะไรหรือบ้างครั้งก็ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้เกิดปัญหายาเสพติดและป่าไม้ถูกทำลาย
…บางครั้งชาวเขาเขาก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองว่า เมื่อพ่อบอกว่าปลูกฝิ่นไม่ดีเขาก็จะทำตาม เขาก็จะเลิกปลูกฝิ่น จะทำการเพาะปลูกอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่งผู้เชี่ยวชาญไปสอนเขา แต่เขาก็พูดว่า ขออนุญาตพ่อได้มั้ย ให้มีที่ปลูกฝิ่นสักนิดหนึ่ง ไม่ใช่อะไรหรอก เขาบอกว่า เวลาปวดฟัน ปวดท้อง มันนานกว่าที่จะลงไปหาหมอที่ข้างล่าง ถ้าเขามีฝิ่น ปวดฟันนอนไม่หลับ เขาเสพฝิ่นหน่อยเดียวก็ค่อยยังชั่ว พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอก อนุญาตให้ปลูกฝิ่นได้เล็กน้อยสำหรับแก้เจ็บปวดอะไรเช่นนั้น
…ส่วนภาคอีสานก็เป็นที่ราบสูงปัญหาใหญ่ก็เป็นขาดแคลนน้ำที่จะใช้เพาะปลูก และดินเป็นดินทราย ภาคใต้มีฝนตกชุกแทบทั้งปี แต่เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะแคบยาว ด้านหนึ่งเป็นภูเขา ด้านหนึ่งเป็นทะเล ที่ราบตรงกลางบางส่วนเป็นพรุไปเสียหลายแสนไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ค่อยได้ เพราะในพรุมีน้ำเปรี้ยวขังอยู่ ถ้าฝนน้อยไปน้ำเค็มจากทะเลก็ซึมเข้ามา กลายเป็นมีน้ำ 3 รสด้วยกัน คือทั้งจืด ทั้งเปรี้ยว และทั้งเค็ม
…ส่วนภาคกลางของเราโชคดีที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นทางผ่านที่น้ำมาจากภาคเหนือและไหลลงสู่ทะเล ปีไหนฝนชุกมาก ภาคกลางก็จะมีน้ำท่วม ซ้ำท่วมแล้วไม่ลดลงเร็วเหมือนภาคอื่น เพราะมีน้ำทะเลหนุนกลายเป็นน้ำท่วมขัง บางพื้นที่ต้องจมน้ำอยู่ตั้งหลายเดือน
…เช่นบ้านเดิมของข้าพเจ้า บ้านของพ่อแม่ข้าพเจ้า อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เทเวศร์ ก็เห็นเป็นประจำที่น้ำท่วมตลอด บางทีก็ท่วมคนในบ้านด้วยซ้ำไป พื้นเสียหมดเลยน้ำท่วมมีปลามีงู เพราะว่าอยู่ในบ้าน ต้องย่ำน้ำกันในบ้านนั้นเอง เป็นของธรรมดา บัดนี้ก็สมัยใหม่ขึ้น ก็ค่อยยังชั่วขึ้น…”นี่คือบางส่วนของพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหา มหาราชินี 2552
เพียงพระราชดำรัสสั้นๆ นี้ เราประจักษ์แจ้งถึงสิ่งที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์” และ “ยุทธศาสตร์” อย่างชัดเจน
3) หลังกลับจากการตรวจเยี่ยมน้ำท่วมที่จังหวัดชัยภูมิ นายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ตอนหนึ่งว่า…
“…จากการที่ผมได้ลงไปติดตามสถานการณ์ในหลายๆ พื้นที่ พบว่าโดยภาพรวมแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับมือได้ ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะแต่ละจังหวัด ได้มีการดำเนินการตามแผนรับมืออุทกภัยระดับประเทศ ที่ครม.ได้กำหนดไว้เมื่อเดือน มิ.ย. สำหรับหน้าฝนปีนี้ซึ่งมี 10 มาตรการ คือ
1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง โดยจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า
2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งการจัดทำแผนการชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่ง
3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำรวมทั้ง จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางในช่วงภาวะวิกฤต
4.ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจ และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดวัชพืชในแม่น้ำ และคูคลอง ทั่วประเทศด้วยการบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของทุกหน่วยงาน
7.เตรียมพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง
8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
9.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
10.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
ดังนั้น ผมจึงขอให้ทุกพื้นที่ ดำเนินการตาม 10 มาตรการนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมการและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ทั้งในปีนี้และปีต่อๆ ไปด้วยนะครับ
จากการประเมินสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีพายุเข้ามาอีก น้ำท่วมขังจะค่อยๆ ลดลงจนหมดภายใน 10-15 วัน ผมได้สั่งการย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าการทุกจังหวัดที่ประสบเหตุ ได้เร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ รวมทั้งการเข้าไปดูแลประชาชนที่ประสบภัยให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ เรายังได้ทำการประเมินความเสี่ยง เพื่อวางแผนรับมือสำหรับจังหวัดในเขตพื้นที่ตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพและปริมณฑลไว้ด้วย ซึ่งจากแผนเผชิญเหตุและการเตรียมพร้อมล่วงหน้าของเราในปีนี้ ผมจึงเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะไม่เหมือนกับวิกฤตในอดีตที่ผ่านมา
สรุป :
ส่วนไหนเรียกว่า “วิสัยทัศน์” ส่วนไหนเรียกว่า “ยุทธศาสตร์” ส่วนไหนที่มากไปกว่า “งานประจำของระบบราชการ” ?!?
เรามีนายกรัฐมนตรีที่ “ให้” อะไรมากกว่างานที่ระบบราชการทำอยู่บ้างไหมครับ?
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แม้แต่จะใช้สื่อของรัฐจัดการกับความสับสนของข้อมูลและความวิตกกังวลของประชาชน ด้วยการมี “รายการพิเศษ” เพื่อฉายภาพสถานการณ์น้ำทั้งระบบ โดยจิสด้า กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนยมวิทยา ฯลฯ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เห็นสภาพปัญหาตรงกัน ก่อนจะให้ความมั่นใจว่า รัฐมีระบบการจัดการที่ดีพอ ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาหลังน้ำลด และแผนการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา “น้ำท่วมซ้ำซาก”เราได้เห็นสิ่งเหล่านี้ที่ควรจะเห็น หรือเราต้องเห็นการใช้สถานการณ์น้ำท่วม จัดอีเว้นท์ลงพื้นที่“แก้ปัญหาการเมือง” ของท่าน กับ สส.ของพลังประชารัฐกันแน่ครับ?!?