วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามในประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ (มีผลกระทบถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2565) ฉบับที่ 7
ประกาศดังกล่าวระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ตอนบน
ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 21 พฤษภาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา
วันที่ 22-23 พฤษภาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีค่อนข้างกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง โดยเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 24 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุฯ เพื่อเตรียมรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ขอบคุณ กรมอุตุฯ