บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จับมือคู่ค้าธุรกิจจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งยั่งยืน ขับเคลื่อนเป้าหมาย “องค์กรคาร์บอนต่ำ” ประกาศความมุ่งมั่น ร่วมปกป้อง ฟื้นฟู รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ (Biodiversity and Zero Deforestation) ภายในปี 2573 ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกลยุทธ์ “ดิน น้ำ ป่า คงอยู่” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน คือ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” โดยให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
ความมุ่งมั่นดังกล่าว นอกจากครอบคลุมกิจการซีพีเอฟและบริษัทย่อย ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ (การเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ) และธุรกิจอาหาร (การผลิตอาหารและช่องทางการจำหน่าย) ยังรวมไปถึงคู่ค้าธุรกิจ เกษตรกรที่จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้กับบริษัท อาทิ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลืองและมันสำปะหลัง ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกร เพื่อยุติการบุกรุกพื้นที่ป่า ด้วยกระบวนการจัดซื้อที่รับผิดชอบผนวกกับระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ปัจจุบันบริษัทสามารถจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ ไม่บุกรุกป่าได้ครบ 100% และยังได้ต่อยอดนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมและแบ่งปันความรู้แก่เกษตรกรข้าวโพดในประเทศไทยในการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดการใช้สารเคมี ช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและปฏิบัติตามแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management Plans) ติดตามประสิทธิภาพการตรวจสอบย้อนกลับของคู่ค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการตรวจประเมินคู่ค้าเพื่อตรวจสอบ ประเมินการดำเนินงานและแนวปฏิบัติในความสามารถตรวจสอบย้อนกลับกับกลุ่มผู้ผลิต
“ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหาร จึงได้ประกาศความมุ่งมั่น ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า”
นายประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศความมุ่งมั่นเพื่อร่วมยุติปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ มีผลต่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการที่ต้นไม้ช่วยกักเก็บคาร์บอน ปกป้องสุขภาพดิน ป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายและชะลอความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟู ผืนป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat