ททท.ย้ำการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจะช่วยให้ธรรมชาติที่สวยงามอยู่คู่ประเทศไทยไปได้ตลอด รณรงค์ปลุกจิตสำนึกและดำเนินกิจกรรมการตลาดแบบตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้ดำเนินการในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบหรือ Responsible Tourism อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้ง กองบริหารความยั่งยืน ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งมีการทำกิจกรรมทางการตลาดที่ตอบรับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และจับมือพันธมิตรจัดทำโครงการสื่อสารไปยังประชาชน เช่น โครงการรณรงค์ “ลดโลกเลอะ” มุ่งลดการสร้างขยะในแหล่งท่องเที่ยว และก่อนหน้านี้ยังมีโครงการ “7 Greens” ซึ่งเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Green Heart/ Green Logistics/ Green Attraction/ Green Activity/ Green Community/ Green Service และ Green Plus ซึ่งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพราะ ททท.มักกลายเป็นจำเลยของสังคม เมื่อพบว่า การเดินทางของนักท่องเที่ยวได้เพิ่มปัญหาของสิ่งแวดล้อมตามมาเสมอ ต้องยอมรับว่าการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ททท.หรือภาคเอกชนรู้สึกดีใจ แต่ก็ถูกตำหนิว่าเป็นตัวก่อให้เกิดการเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเวลานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมาไทย ก็ได้พบกับคอมเมนต์ว่า ได้เดินทางมาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วไม่เห็นสวยเหมือนในรูปภาพ ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการให้ความใส่ใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบของ ททท.”
ขณะเดียวกัน ททท.เป็นหน่วยงานที่มุ่งสู่องค์กรสมรรถนะสูง กำหนดให้ต้องมีการขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในองค์กรและนำนวัตกรรมมาปรับใช้ และต้องเป็นองค์กรที่มีแผนรองรับกับสภาวะต่างๆ อย่างชัดเจน มีการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ต้องคิดโครงการที่สอดรับกับการดำเนินงานขององค์กรขึ้นมา ซึ่งก็คือ การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งต้องดำเนินตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ภายใต้ BCG Model ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยว คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวความยั่งยืน (Sustainable tourism) ระบบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Tourism destination management system) การรักษาสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการอื่นที่มีคุณภาพสูง (High-quality Tourism) เช่น Wellness Tourism, Culinary Tourism, Eco-tourism, Cultural Tourism และ Sports Tourism
รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการทำกิจกรรมทางการตลาด ททท.ก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลดขยะอาหาร หรือ Zero Food Waste ซึ่งถือเป็นขยะที่มีปริมาณมหาศาลในแต่ละปี และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างขยะอาหารเช่นกัน ดังนั้น ในการจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์” ฉบับล่าสุด ททท.มีนโยบายให้มิชลิน เพิ่มรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก หรือ MICHELIN Green Star เป็นสัญลักษณ์รูปดาวสีเขียว เป็นรางวัลใหม่จาก มิชลิน ไกด์ ครั้งแรกในโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมอบให้กับร้านอาหารที่ดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การรีไซเคิล การลดขยะอาหาร การจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่นและตามฤดูกาลด้วยความรับผิดชอบ
นอกจากนั้น ได้จัดทำโครงการ RT in Action for the New Normal Travellers โดยททท.ที่ดูแลภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกกลาง ได้นำสินค้าการท่องเที่ยวในรูปแบบ Responsible Tourism ที่เหมาะกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวตลาดยุโรป มาจัดทำเป็นเส้นทางนำร่อง 7 เส้นทางใน 14 จังหวัด ตามแนวคิดเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรองเข้าด้วยกัน ตามนโยบาย Hub & Hook เช่น กาญจนบุรี – สมุทรสงคราม มีกิจกรรม Low Carbon ศึกษาวิถีธรรมชาติสัตว์ป่า และเทศกาลของชาวมอญ อ.สังขละบุรี ขณะที่เส้นทางแม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่ พาไปชุมชนท่องเที่ยวชนเผ่าในแม่ฮ่องสอน Co Creation Project กิจกรรม Vegan Farm to Table กิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่ออนใต้ ในเชียงใหม่
เส้นทางน่าน – เชียงราย : กิจกรรมขี่จักรยานชมเมืองเก่าน่าน Zero Waste Project เส้นทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในธีม ชา กาแฟ โกโก้ และสับปะรด Chiang Rai’s Chef Table, เส้นทางจันทบุรี – ตราด : ชุมชนเมืองเก่าเรื่องเล่าอัญมณีริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี เส้นทางอาหารถิ่นและเครื่องเทศเมืองจันทบูร การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon บนเกาะหมาก จ.ตราด
เส้นทางนครศรีธรรมราช-พัทลุง: เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมเมืองนครศรีธรรมราช วิถีชุมชนประมง วิถีชีวิตริมทะเลน้อย จ.พัทลุง, เส้นทางชุมพร–ระนอง:Slow Food Travel ที่ชุมพร เส้นทางกาแฟโรบัสต้า การเรียนรู้วิถีเกษตรแบบ Permaculture ที่ชุมพร และเส้นทางกระบี่-ตรัง พาเดินป่าศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ จ.กระบี่ กิจกรรม CSR Low Carbon Activities วิถีเกษตรบนเกาะสุกร จ.ตรัง Gastronomic Travel เส้นทางอาหารวัฒนธรรมพารานากัน เป็นต้น
นอกจากนี้ มีโครงการที่ทำสำเร็จไปแล้ว อาทิ Thailand Academy ที่นำเสนอคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชนผ่านภูมิปัญญาการทอผ้าไทย โดยนำคณะดีไซเนอร์ติดตามด้วยบล็อกเกอร์จากยุโรปมาทำเวิร์กช็อปออกแบบแฟชั่นในจังหวัดเมืองรองของไทย ได้แก่ ผ้าทอชุมชนไทลื้อ จ.น่าน ผ้าหม้อห้อม จ.แพร่ ผ้าไหม จ.สุรินทร์ ผ้ามัดย้อม ชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช และโครงการ The LINK ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดท่องเที่ยวในเมืองรองเป้าหมาย 10 จังหวัด โดยจับคู่ทำตลาดอย่างเข้มข้นที่จะพานักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นนักท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงมาไทย เช่น ททท.ลอนดอนจับคู่แม่ฮ่องสอน ททท.สตอกโฮล์มจับคู่นครศรีธรรมราช ททท.ปรากจับคู่ตรัง ททท.แฟรงก์เฟิร์ตจับคู่พังงา ททท.โรมจับคู่สุโขทัย ททท.ปารีสจับคู่เลย ททท.ดูไบจับคู่สมุทรสงคราม ททท.มอสโกจับคู่เพชรบุรี ททท.ลอสแอนเจลิสจับคู่ชุมพร และททท.นิวยอร์กจับคู่ตราด เป็นต้น