เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มี 2 ประเด็นที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ผมอยากจะนำมาแจ้งให้ทุกท่านทราบ ดังนี้
เรื่องที่ 1 โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
ครม. ได้เห็นชอบข้อเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เป็นครั้งที่ 2 เพิ่มเติมอีก 12 จังหวัด ซึ่งเมื่อรวมกับที่ได้อนุมัติไปแล้ว 23 จังหวัด ในการประชุมครั้งที่แล้ว รวมเป็นทั้งสิ้น 35 จังหวัด จำนวนโครงการที่ผ่านการอนุมัติ 4,303 โครงการ รวมกรอบวงเงินจัดสรรที่ 9,757.86 ล้านบาท ให้กับจังหวัดต่อไปนี้ คือ
ครั้งที่ 1 จำนวน 23 จังหวัด 2,117 โครงการ วงเงินรวม 6,170.65 ล้านบาท
1. นครสวรรค์ 84 โครงการ 295.51 ล้านบาท
2. อุทัยธานี 102 โครงการ 219.03 ล้านบาท
3. กำแพงเพชร 338 โครงการ 275.03 ล้านบาท
4. พิจิตร 89 โครงการ 215.80 ล้านบาท
5. อุดรธานี 77 โครงการ 362.23 ล้านบาท
6. หนองคาย 53 โครงการ 206.61 ล้านบาท
7. หนองบัวลำภู 81 โครงการ 251.30 ล้านบาท
8. บึงกาฬ 70 โครงการ 229.45 ล้านบาท
9. ขอนแก่น 375 โครงการ 370.28 ล้านบาท
10. สิงห์บุรี 70 โครงการ 234.01 ล้านบาท
11. ปทุมธานี 47 โครงการ 262.08 ล้านบาท
12. เพชรบุรี 43 โครงการ 234.67 ล้านบาท
13. ประจวบคีรีขันธ์ 84 โครงการ 240.92 ล้านบาท
14. ฉะเชิงเทรา 71 โครงการ 275.72 ล้านบาท
15. ตราด 37 โครงการ 212.77 ล้านบาท
16. สุราษฎร์ธานี 121 โครงการ 331.15 ล้านบาท
17. ชุมพร 58 โครงการ 214.77 ล้านบาท
18. นครศรีธรรมราช 57 โครงการ 354.66 ล้านบาท
19. พัทลุง 66 โครงการ 299.01 ล้านบาท
20. สงขลา 74 โครงการ 348.78 ล้านบาท
21. กระบี่ 35 โครงการ 263.70 ล้านบาท
22. ตรัง 41 โครงการ 256.60 ล้านบาท
23. สตูล 44 โครงการ 216.80 ล้านบาท
ครั้งที่สอง จำนวน 12 จังหวัด 2,186 โครงการ วงเงินรวม 3,587.21 ล้านบาท
1. กาฬสินธุ์ 690 โครงการ 400.57 ล้านบาท
2. มหาสารคาม 473 โครงการ 282.38 ล้านบาท
3. นครราชสีมา 227 โครงการ 494.36 ล้านบาท
4. ชัยภูมิ 257 โครงการ 275.78 ล้านบาท
5. ยโสธร 20 โครงการ 251.45 ล้านบาท
6. สระบุรี 121 โครงการ 234.03 ล้านบาท
7. นครปฐม 105 โครงการ 263.88 ล้านบาท
8. จันทบุรี 56 โครงการ 207.03 ล้านบาท
9. พังงา 47 โครงการ 219.58 ล้านบาท
10. ระนอง 69 โครงการ 249.37 ล้านบาท
11. นราธิวาส 63 โครงการ 354.09 ล้านบาท
12. ปัตตานี 58 โครงการ 354.66 ล้านบาท
โดยโครงการทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 โครงการพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด
กลุ่มที่ 2 โครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร เช่น การขุดบ่อบาดาลสำหรับการเกษตร การขยายท่อเพื่อการเกษตร
กลุ่มที่ 3 โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของประชาชนให้สูงขึ้น
กลุ่มที่ 4 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน เช่น การทำถนน สาธารณูปโภค ปรับปรุงประปา อาคาร และอื่นๆ
โดยโครงการทั้งหมด เป็นโครงการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 มีระยะเวลาในการดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 ซึ่งจากที่อนุมัติแล้ว 4,303 โครงการ คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อย 95,500 คน มีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 18 ล้านคน และโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ยังจะมีการอนุมัติครั้งต่อๆ ไปสำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะได้นำเสนอต่อ ครม. ในการประชุมต่อๆ ไปโดยเร็วที่สุดหลังจากพิจารณาอนุมัติโครงการตามที่ได้เสนอมาแล้ว
เรื่องที่ 2 การแก้ไขปัญหากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ในปัจจุบันมีการกู้ยืมเงินของ กยศ. มากกว่า 5 ล้านราย รวมเป็นวงเงินมากกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้สูงถึงมากกว่า 60% และยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลให้สั่งการให้คณะกรรมการ กยศ. ได้แนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ประเภทต่างๆ
เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี และเพิ่มส่วนลดเงินต้นจาก 3% เป็น 5% สำหรับผู้ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ส่วนผู้ไม่สามารถชำระหนี้ชั่วคราว ก็มีการผ่อนผัน จากเดิมจ่ายขั้นต่ำ 100 บาท ลดลงเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่ผิดชำระหนี้ ก็มีการลดเบี้ยปรับ 100% ในการชำระหนี้ปิดบัญชี และเพิ่มส่วนลดเบี้ยปรับจาก 75% เป็น 80% เพื่อให้เบี้ยปรับลดลง สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ พร้อมทั้งลดอัตราเบี้ยปรับลงเหลือ 0.5% ต่อปี ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องนั้น มีนโยบายให้ชะลอการฟ้องร้องคดีและบังคับคดีออกไป และสำหรับลูกหนี้รายใหม่ ให้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืน นอกนั้นจะยังมีแผนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนคลายภาระให้กับลูกหนี้ทุกประเภทด้วย
ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ เป็นความพยายามของรัฐบาลในการหาทุกหนทางในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายลง รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้ถึงประชาชนแต่ละจังหวัดให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะภายในสิ้นปีนี้ เราจะก้าวไปสู่การร่วมกันสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ด้วยกันอย่างยั่งยืนและมั่นคง ให้อนาคตของประเทศ มีรากฐานที่แข็งแรงทั้งระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร มีอาชีพใด อยู่ที่จังหวัดใดก็ตาม ทุกคนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ขอให้เราทุกคนมาร่วมมือ “สร้างประเทศ” ร่วมกัน