#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สาหร่ายเป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต ที่มีโอกาสเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม อาหารสัตว์ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมประมงพร้อมผลักดันให้สาหร่ายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ
“สาหร่าย คือ อาหารแห่งอนาคต” กรมประมงดำเนินการสนับสนุนพื้นที่นำร่องจังหวัดแรก คือ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้เกษตรกร เนื่องจากมีพื้นฐานการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม นับว่าเป็นพื้นที่ตัวอย่างต้นแบบในยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์การพัฒนาสาหร่าย ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นประมาณ 30 ฟาร์ม ทั้งนี้หน่วยงาภายใต้สังกัดกรมประมงที่ร่วมส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นให้ขยายไปยังเขตพื้นที่จังหวัดอื่น ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์วิจัยฯ มีตัวอย่างการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายทะเลหลายสายพันธุ์ เช่น สาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายลิ้นมังกร สาหร่ายผักกาด สาหร่ายโพรง สาหร่ายขนนก และสาหร่ายผมนาง เป็นต้น
“การสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายเป็นอาหารแห่งอนาคตในเวทีโลก” ภายใต้วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก สาหร่ายมี 4 ประเภทหลัก คือ สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สาหร่ายสีน้ำเงิน และสาหร่ายสีแดง สาหร่ายเป็นพืชใต้น้ำเซลล์เดียวที่มีคลอโรฟิลล์ เพาะเลี้ยงได้ในน้ำจืด น้ำเค็มและน้ำกร่อย อีกทั้งใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงน้อย เติบโตเร็วและใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงจึงช่วยในการลดภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันการผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างมาก ในปี 2562 พบว่ามีผลผลิตรวมทั่วโลก ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมทางพื้นที่หลายจังหวัดและมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายหลากหลายสายพันธุ์ โดยมี 22 จังหวัดที่ติดทะเลมหาสมุทรเหมาะกับสาหร่ายทะเล และ อีก 28 จังหวัดบนบกที่สามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายน้ำจืดได้ หลายจังหวัดเริ่มหันมาเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล เช่น สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น การเพาะเลี้ยงสาหร่ายสามารถเลี้ยงควบคู่กับปลาในกระชังหรือปลาสวยงามได้เช่นกัน ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง
“ประโยชน์ของสาหร่ายทะเลและน้ำจืด” สาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร การแปรรูปอาหารเสริม ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ การใช้สาหร่ายในการบำบัดน้ำเสียร่วมกับแบคทีเรีย นอกจากนี้การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อื่นที่น่าสนใจ โดยใช้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบทางเลือก เช่น การผลิตหมึกพิมพ์ ข้อมูลจาก TCDC ได้ระบุว่าบริษัท Living Ink Technologies ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นนวัตกรรมหมึกพิมพ์จากสาหร่าย ซึ่งเป็นหมึกพิมพ์ชนิดแรกของโลกที่ทำจากพืช 100% ประกอบด้วยสาหร่าย 90% และพืชชนิดอื่นอีก 10% สามารถปลูกทดแทนได้ใหม่และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจในต่างประเทศมีแนวโน้มจะพัฒนาในการใช้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“สาหร่ายเป็นพืชพลังงานสะอาด” ในปี 2012 Exxon Mobil เคยมีการศึกษาร่วมกับ Synthetic Genomics, Inc. (SGI) และ MIT พบว่าน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สกัดจากน้ำมันสาหร่ายสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งสาหร่ายไม่ส่งผกระทบต่อแหล่งอาหารของโลกและการใช้น้ำจืด ซึ่งต่างจากเอทานอลที่ผลิตมาจากพืชผลทางเกษตรอื่น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น
ประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษาวิจัยสาหร่ายในระบบปิดเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนพลังงานจากฟอสซิลตามแนวทางพลังงานสีเขียวเพื่อความยั่งยืน และมุ่งใช้สำหรับน้ำมันเครื่องบิน (Jet Fuel) ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทยมองว่าเป็นต้นแบบนวัตกรรมที่น่าศึกษาอย่างมาก สาหร่ายจึงกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการพืชเศรษฐกิจที่ตั้งเป้าไว้
สาหร่ายเป็นแหล่งอาหารอนาคตสำคัญ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นพืชทางเลือกด้านการผลิตเชื้อเพลิง มีโอกาสผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจของประเทศ