ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – นับถึงวันนี้อายุของรัฐบาลก็จะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 เดือนก็จะครบเทอม
ถ้าไม่มีอุบัติเหตุการเมือง อย่างประเด็น “นายกฯ ครบ 8 ปี” ที่คงต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจ หรืออะไรมาดลใจให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตัดสินใจเตะปลั๊กยุบสภาในเร็ววันนี้ ตามคิวแล้วก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงต้นปี 2566
ถือเป็นเวลาเหมาะสมที่แต่ละฝักฝ่ายทั้งพรรคใหม่-เก่า จะตระเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ที่มีเดิมพันสำคัญในการช่วงชิงอำนาจ ที่ตกอยู่ในเงื้อมมือ “ขุนทหาร 3 ป.” มานานมากกว่า 8 ปีเต็ม
แม้ว่าในส่วนของ “กติกาเลือกตั้ง” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังอยู่ในภาวะ “ลูกผีลูกคน” ไม่รู้จะออกหน้าไหน ไม่ว่าหาร 100 หรือหาร 500 ที่หากผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ ก็ต้องไปลุ้นความเห็นขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือกระทั่งมีผู้ยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ
มูลเหตุที่เกิดความลังเลต่อการออกแบบกติกาเลือกตั้ง จนออกลูกมั่วขนาดนี้ ก็เพราะ “ฝ่ายอำนาจ” เจอสมการการเมืองที่แก้ไม่ตก
ทางหนึ่งก็มีโจทย์สำคัญคือ จะปล่อยให้ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย สานฝันเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ไม่ได้ โดยเฉพาะสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ “หาร 100” ที่คล้ายกับการเลือกตั้งปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยกวาด ส.ส.ได้ครึ่งสภาฯ ยิ่งไปกว่าภายใต้กติกาเดียวกันในปี 2548 ก็ประกาศศักดากวาด ส.ส.ค่อนสภาฯ จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ด้วย
ครั้นจะไปเลือกสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ “หาร 500” ที่ดีดลูกคิดแล้วไม่น่าจะเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อพรรคขนาดกลางในเครือข่ายเช่นกัน หนักไปกว่านั้นก็อาจจะไปเข้าทาง “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ที่อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มากขึ้น
ทำท่าว่าสูตรเลือกตั้งที่ยื้อยุดฉุดกระชากกันมานานสองนาน ไม่ใช้ทางเลือกที่ดีต่อ “ฝ่ายอำนาจ” จนบางกระแสไปไกลถึงขั้นกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” แบบเลือกตั้งปี 2562 แต่ต้อง “เล่นใหญ่” ยื่นแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่ ไอเดียนี้เลยต้องเก็บเข้าลิ้นชัก รอจังหวะจวนตัวค่อยว่ากันอีกที
ทว่าในขณะที่กติกาเลือกตั้งยังไม่ตกผลึกดี ก็กลับมีความเคลื่อนไหวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ในข่าย “ทีม 3 ลุง” ตามไทม์มิ่งที่ว่าไว้ว่า เหลือเวลาไม่ถึง 8 เดือนดีก็จะเข้าสู่การเลือกตั้ง
เปิดหัวด้วย “พรรครวมแผ่นดิน” ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 มี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค โดย พรรครวมแผ่นดิน นั้นเทกโอเวอร์มาจาก “พรรคพลังชาติไทย” ที่เดิมก่อตั้งโดย พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ล่วงลับ โดยหลังการเลือกตั้งปี 2562 พล.ต.ทรงกลด หัวหน้าพรรคได้เข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงหนึ่งเดียวของพรรค
จากผลคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศที่ได้เข้า 73,781 เสียง ถือเป็นเพียง 1 ใน 2 พรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงเกินกว่าฐาน ส.ส.พึงมี ที่กำหนดไว้ที่ราว 70,000 เสียง
กระทั่ง พล.ต.ทรงกลด ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.และเสียชีวิตเมื่อช่วงเดือน ต.ค.2564 มีผลให้ บุญญาพร นาตะธนภัทร ภรรยาของพลตรีทรงกลด ซึ่งอยู่ในผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคแทน
ก่อนจะมีกระแสข่าวว่า “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ กำลังเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดนเลือกที่จะเข้ามาใช้พรรคพลังชาติไทย เพื่อทำการเมือง และลงเลือกตั้งครั้งหน้า
จนที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ จะเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรครวมแผ่นดิน พร้อมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นอกจาก “บิ๊กน้อย” เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ก็ยังมี จำลอง ครุฑขุนทด อดีต รมช.ศึกษาธิการ อดีต ส.ส.นครราชสีมาหลายสมัย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นเลขาธิการพรรค
รองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย “บุญญาพร”, พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ อดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เตรียมทหารรุ่น 14 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยุค คสช., พล.ต.พิชิต บุตรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ที่ถูกเทกโอเวอร์
กรรมการบริหารพรรค ได้แก่ ชิงชัย ก่อประภากิจ, มาโนช อุณหกาญจน์กิจ, เฉลิมพล ระดาพัฒน์, สุรียา ยีลูมา, กานดา ถาวรประพาฬ และ พ.อ.ธีรเดช เบญจาธิกุล เหรัญญิกพรรค ณัฐพล ทองคำ นายทะเบียนสมาชิกพรรค มนตรี พรมวัน
รวมไปถึง “ซินแสโจ้” คมสัน พันธุ์วิชาติกุล อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางพลัด พรรคประชาธิปัตย์ อดีตโฆษกพรรคเศรษฐกิจไทย ติดสอยห้อยตาม “บิ๊กน้อย” มาเป็นกรรมการบริหารพรรค และโฆษกพรรครวมแผ่นดิน
ว่ากันว่า เหตุที่ “บิ๊กน้อย” เลือกมาลงหลักปักฐานที่พรรคพลังชาติไทยนั้น ก็เป็นเพราะมีสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.ต.ทรงกลด ซึ่งเป็นอดีตนายทหารที่เคยทำงานร่วมกับ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งช่วงปี 2560 “บิ๊กน้อย” เข้ามาสานต่อตำแหน่งเลขาฯราชตฤณมัยสมาคมฯ ด้วยแรงสนับสนุนของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งน้องรักมาคุมสนามม้านางเลิ้ง แทน “พี่อ้าย”
หลัง พล.ต.ทรงกลด เสียชีวิต “บุญญาพร” ได้เข้าขอคำปรึกษากับ “บิ๊กน้อย”เพื่อสานต่อพรรคพลังชาติไทยของ พล.ต.ทรงกลด เผอิญที่ดีลกับกลุ่มการเมืองอื่นของ “บิ๊กน้อย” ไม่ลงตัว ก็เลยบ่ายหน้ามาที่พรรคพลังชาติไทยดังกล่าว
ถัดมาที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งได้ “แกรนด์โอเพ่นนิ่ง” กันไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2565 ปรับโครงสร้างบริหารพรรค และแต่งตั้งตำแหน่งหลักๆ โดยสปอตไลท์ส่องไปที่ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มาเก้าอี้นั่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ ตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยมี “เสี่ยขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ลูกชาย พรเทพ เตชะไพบูลย์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง และยังเป็นลูกเลี้ยงของ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. มาเป็นเลขาธิการพรรค
ขณะเดียวกันก็มี “บิ๊กเนม” มาร่วมงานอีกไม่น้อย ทั้ง วิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, “บังมาด” สามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์, “เสี่ยเอ็ม” ชื่นชอบ คงอุดม ลูกชาย “ชัช เตาปูน” ชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท, เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีต ส.ว.ราชบุรี, “นายกฯพร” วิสุทธ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง และเป็นน้าชายของ สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์, ปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ ทายาทสายตรงชุณหะวัณ บุตรชายจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ “ผู้พันแซม” พ.อ.เฟื่องวิช อนิรุทธเทวา อดีตเลขานุการนายพีระพันธุ์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม เตรียมทหาร 22 รุ่นเดียวกับ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน
รวมถึง 2 พ่อลูกนักการเมืองซอยราชครูคือ “เดอะป๊อก” ปองพล อดิเรกสาร ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาพรรค และ “เสี่ยปาล์ม” ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร ที่ร่วมเปิดตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นต้น
วันเดียวกัน “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไปสะดุดปมโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จนต้องยุติบทบาท “มือทำงานนายกฯ” รวมถึงถอยจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ “พีระพันธุ์” ด้วย
และ “แรมโบ้” ยังได้อาศัยฟลอร์วันงาน ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังจัดตั้งพรรคใหม่ชื่อ “พรรคเทิดไท” เพื่อหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาลอีก
ไม่เพียงแต่พรรครวมแผ่นดิน-รวมไทยสร้างชาติ-เทิดไท ที่ถูกมองว่าเป็นสายของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” จะขยับเท่านั้น ยังมีพรรคอื่นที่อยู่ในเครือข่าย เตรียมเปิดตัวหลังจากนี้อีกอย่างน้อย 2 พรรค
ทั้ง “พรรคพลังไทยชัยชนะ” ของ “อร่าม โล่ห์วีระ” นายก อบจ.ชัยภูมิ และอดีต ส.ส.หลายสมัยแห่ง จ.ชัยภูมิ ที่นัดเปิดตัวในวันที่ 15 ส.ค.65 นี้ ซึ่งเดิมทีมีข่าวว่า “อร่าม-บิ๊กน้อย” มีการเจรจาจะร่วมงานการเมืองกัน แต่รายละเอียดไม่ลงตัว “อร่าม” ที่มีแนวทางการเมือง “ฝ่ายขวา” อยู่ตรงข้าม “ระบอบทักษิณ” มาตลอด จึงเดินหน้าตั้งพรรคการเมืองเอง และจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังไทยชัยชนะด้วยตัวเอง
ส่วนอีกพรรคเป็น “พรรคเพื่อไทรวมพลัง” ที่เป็นเครือข่ายของ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม แห่งพรรคภูมิใจไทย ที่ตามข่าวว่า “เสี่ยป้อ” เลือกตั้งรอบหน้าคงไม่ไปต่อกับ “ค่ายเซราะกราว” และหันไปต่อปลั๊กตรงกับ “ลุง 3 ป.” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เหตุเพราะแนวทางการเมืองใน “เมืองโคราช” จ.นครราชสีมา มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และแนวทางพรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำของ “ครูใหญ่บุรีรัมย์” ไม่เอื้อต่อการสยายปีกของ “กำนันป้อ” ที่วันนี้ส่ง “มาดามหน่อย” ยลดา หวังศุภกิจโกศล ยึดหัวหาดเป็นนายก อบจ.นครราชสีมา ไว้แล้ว
โดยมีข่าวว่าเดิม “วีรศักดิ์” ก็ได้ร่วมพูดคุยแนวทางการเมืองกับ “อร่าม-บิ๊กน้อย” ด้วย แต่สรุปที่ว่า “แยกกันเดิน รวมกันตี” น่าจะดีกว่า
แม้พรรคเครือข่ายจะขยับตัวแรง แต่ทาง “บิ๊กตู่” เองก็ดูจะเว้นระยะห่างพอสมควร ด้วยการยืนยันว่า ตัวเองยังคงอยู่กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนให้เป็นนายกฯ รวมทั้งยังมีความคิดที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วย
เป็นคีย์เดียวกับ “พีระพันธุ์” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ระบุว่า ไม่เคยพูดว่าตั้งมาเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คล้ายกับ “บิ๊กน้อย” ที่ก็พูดเสียงแข็งว่า ไม่เคยเป็นนั่งร้านให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร
เข้าใจได้ว่า เป็นสคริปต์ที่ “เตี๊ยม” กันมา เพื่อเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน เลี่ยงข้อหาครอบงำพรรค ที่อาจนำไปสู่การถูกร้องยุบพรรคในอนาคต ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ “บิ๊กตู่” แสดงความแนบแน่นกับ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่รัฐบาล ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ทำนองว่าแม้จะมีการแตกไลน์ขยายสาขาอย่างไร ก็จะเดินเคียงคู่กันไปโดยมี “ค่ายพลังประชารัฐ” เป็นสาขาหลัก
แต่อีกนัยหนึ่งก็มองได้อีกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” แสดงความเป็นหุ้นส่วน หรือหนักกว่านั้นก็แสดงความเป็น “เจ้าของ” ของพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าความพยายามในการเข้ายึดพรรคหลายต่อหลายครั้งจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
อย่างไรก็ดี ก็มองกันว่าบรรดา “พรรคสำรอง-พรรคอะไหล่” ที่เปิดไว้ อาจไม่ได้เพียงทำหน้าที่เป็น “นั่งร้าน” เท่านั้น ยังเป็น “บันไดหนีไฟ” เผื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน “พี่น้อง 3 ป.” จนถึงขั้น “แตกหัก” และพรรคพลังประชารัฐไปต่อไม่ได้จริงๆ ตามที่มีกระแสข่าว
โดยเฉพาะรายของ “บิ๊กตู่” จำเป็นต้องมีพรรคขนาดใหญ่พอในการทำหน้าที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ และต้องสมเกียรติระดับ “นายกฯตู่” ด้วย
หากสำรวจโหงวเฮ้งแต่ละพรรคในตะกร้าตอนนี้ ต้องยอมรับว่า พรรครวมแผ่นดิน ของ “บิ๊กน้อย” ดูจะเอียงไปทาง “บ้านป่ารอยต่อฯ” ของ “พี่ป้อม” อีกทั้งยังยังไม่ปรากฏชื่อนักการเมืองบิ๊กเนมเข้ามาร่วมงานเท่าที่ควร และเชื่อว่าเปิดบ้านไว้รอรับบรรดา ส.ส.หรืออดีตผู้สมัครสาย “ลุงป้อม” มากกว่า
และคงต้องจิ้มไปที่ “ค่ายรวมไทยสร้างชาติ” ที่ดูจะเข้มแข็งมากกว่าพรรคอื่นๆ ในเรื่องตัวบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น “พีระพันธุ์” เองที่มีภาพ “สายตรงตึกไทยคู่ฟ้า” ติดตัว รวมไปถึงบรรดานักการเมือง-นักเลือกตั้งมีชื่อทั้งหลายที่ทยอยเข้ามาร่วมงาน
ความน่าสนใจของ “ค่ายรวมไทยสร้างชาติ” ยังอยู่ที่นักการเมือง-นักเลือกตั้ง อดีต ส.ส. และผู้บริหารท้องถิ่น ที่มาแสดงตัว และร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคึกคัก และโดยส่วนใหญ่เป็น “อดีตคนค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น วิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, “บังมาด” สามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์, “นายกฯพร” วิสุทธ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ที่เอ่ยถึงข้างต้น
แล้วยังมี พรเทพ เตชะไพบูลย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อม “มาดามกบ” ปภัสรา เตชะไพบูลย์ ภรรยา ที่มาให้กำลัง “ลูกขิง” เลขาธิการพรรค, เจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.สงขลา, โกวิทย์ ธารณา อดีต ส.ส.กทม., วีระชัย วีระเมธีกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, “เสี่ยดราฟ” ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง อดีตเลขาธิการพรรครวมพลัง, พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี, รัดเกล้า สุวรรณคีรี บุตรสาว “ดร.สามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, “นายกฯโต้ง” นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร
และกลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกช้าง-ลูกหมี ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และชุมพร ที่คาดว่าจะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมทั้ง “นายหัววอน” ถาวร เสนเนียม อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.สงชลา และอดีตแกนนำ กปปส.ที่มาร่วมแสดงความยินดี
ที่มองข้ามไม่ได้คงเป็นคำประกาศกร้าวจาก “หัวหน้าตุ๋ย” ที่ว่า จะกวาด ส.ส.ได้ทั้งภาคใต้ คาดหมายว่า จะชนะหมดทุกเขต
เป็นการส่งสัญญาณชัดถึงเป้าหมายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องการเจาะพื้นที่ของพื้นที่อิทธิพลของ “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ รวมไปถึง กทม. และภาคอื่นๆ ที่มีกระแสข่าวว่า ส.ส.และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะย้ายมาสมทบที่พรรคใหม่แห่งนี้
อาศัยช่องที่ว่า ความเข้มขลังของ “ค่ายสะตอ” ในแดนปักษ์ใต้ ไม่เหมือนในอดีต การเลือกตั้งปี 2562 โดยพรรคพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย รวมไปถึงพรรคประชาชาติ เจาะที่นั่ง ส.ส.ภาคใต้ จนพรุนไปหมด
รวมทั้งอ่านออกว่า หากไปหวังเจาะพื้นที่ภาคอื่น อย่างภาคเหนือ หรือภาคอีสาน ก็คงสู้กับกระแสพรรคเพื่อไทยลำบาก ภาคใต้จึงกลายมาเป็นเป้าหมายของหลายๆพรรคการเมือง
หากโฟกัสเฉพาะ “รวมไทยสร้างชาติ” ก็อาจมองเหนือกว่านั้น โดยมองได้ว่าเป็น “นวัตกรรมใหม่” ในการเขมือบยึด “ค่ายสะตอ” เจาะ “รังแมลงสาบ” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในสมัย คสช.เรืองอำนาจ ก็มีความพยายามในการบุกยึดพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้มาเป็น “นั่งร้าน” สืบทอดอำนาจให้กับ “ขุนทหาร 3 ป.” มาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค กับ “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2562 ปรากฎว่าไม่สำเร็จ
ต่อมาช่วงกลางปี 2562 ช่วงที่ยังตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ภายหลัง “อภิสิทธิ์” ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อรับผิดชอบความล้มเหลวในการเลือกตั้ง ก็มีการชิงชัยเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกครั้ง คราวนี้มีผู้ลงชิงชัยทั้ง พีระพันธุ์, “เสี่ยดอน” กรณ์ จาติกวณิช และ “เสี่ยต้อม” อภิรักษ์ โกษะโยธิน สุดท้าย “กลุ่มอำนาจเก่า” ในพรรคก็ยังผนึกกำลังส่ง “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคมาถึงปัจจุบันไว้ได้
โดยทั้ง 2 ครั้งนั้น ต่างมีกระแสข่าวหนาหูว่า “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้สนับสนุนแคนดิเดตบางรายเพื่อช่วงชิงเก้าอี้หัวหน้าค่ายสะตอ เพื่อเข้าสวามิภักดิ์ต่อ “ขุนทหาร 3 ป.” ด้วย แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธเสียงแข็งก็ตาม
การที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ กลายเป็นศูนย์ของ “คนอกหัก” จากพรรคประชาธิปัตย์ จนถูกแซว่าเป็น “ประชาธิปัตย์ สาขา 2” อีกทั้งหลายรายก็มีกลิ่นอายความเป็น กปปส.อยู่ จึงมีร่างเงาของ “สุเทพ” ทาบทับอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งเมื่อย้อนไปดูข้อมูลจดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติยังปรากฎชื่อ “ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล” เป็นหัวหน้าพรรค โดย “ร.ท.ไกรภพ” เคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง จ.นครพนม เขต 2 ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลัง) เมื่อครั้งเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 โดยที่ “สุเทพ” ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไปช่วยหาเสียงด้วย
เป้าหมายในการเจาะพื้นที่ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นเป้าหมายที่คล้ายคลึงกับพรรครวมพลังประชาชาติ ของ “สุเทพ” เคยพยายามทำมามาแล้วเมื่อปี 2562 เพียงแบรนด์ของ “กำนันเทือก” ไม่แข็งแรงพอ จนได้ ส.ส.เขตมาเพียง 1 ที่นั่งที่ จ.ชุมพร บวกกับบัญชีรายชื่ออีก 4 ที่นั่ง ขนาด “เมืองหอยใหญ่” ถิ่นของตัวเองยังพ่ายกราวรูด
อันเป็นที่มาของพรรคการเมืองยี่ห้อใหม่ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ใช้ภาพลักษณ์ที่ยังไร้ตำหนิของ “พีระพันธุ์” บวกกับกระแส “ติ่งลุงตู่” ที่ยังพอมีในพื้นที่ภาคใต้ เจาะเอาที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ มาเสริมฐานเดิมของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังเชื่อว่าส จะรักษาไว้ได้
จนไม่แน่ใจว่า “รวมไทยสร้างชาติ” จะมาสานฝันให้ “ลุงตู่” หรือ “ลุงเทือก” กันแน่ แต่อย่างน้อยก็มีหมุดหมายเดียวกันคือ ยึด “รังแมลงสาบ” นั่นเอง.