เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ชุมพร – เครือข่าย “คนรักอ่าวชุมพร” จัดกิจกรรมหาดทรายรีต้องมีทราย” หลังกรมโยธาธิการทุ่มงบ 82 ล้าน สร้างเขื่อนกันตลิ่ง ระบุทำลายทัศนียภาพและส่งผลกระทบระบบนิเวศ พร้อมแถลงการณ์ให้ยกเลิกโครงการ ขณะที่ผู้ประกอบการออกมาสนับสนุนเห็นด้วย
วันนี้ (24 ต.ค.) หลังจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ก่อสร้างโครงการเขื่อนกันตลิ่ง งบประมาณ 82 ล้านบาท เป็นแนวยาว 633 เมตร ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 700 วัน และสิ้นสุดสัญญาในปี 2565 บริเวณริมหาดทรายรี ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร ใกล้กับพระตำหนักที่ประทับของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีประชาชนจากทั่วประเทศมากราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชายหาดสวยงามขึ้นชื่อของ จ.ชุมพร
โดยบางจุดมีการขุดทรายในทะเลเป็นร่องลึกเพื่อวางฐานคอนกรีตและมีคานปูนยื่นลงไปในทะเลกว่า 2 เมตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และขณะนี้โครงการดังกล่าวกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านใน จ.ชุมพร นักท่องเที่ยวที่ไปพบเห็น และกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาในระยาว และทัศนียภาพความสวยงามของชายหาดทรายจะหายไป
โดยมีกลุ่มเครือข่าย “คนรักอ่าวชุมพร” กว่า 50 คน ได้ออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมบนชายหาดและในทะเล พร้อมนำป้ายผ้าข้อความว่า “หาดทรายรีต้องมีทราย” บริเวณริมหาดทรายรี ใกล้จุดก่อสร้างเพื่อคัดค้านการก่อสร้างและรณรงค์ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ
จากนั้น นายภูพันธ์ ทองกำเนิด แกนนำกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์ 7 ข้อ เรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระงับโครงการ เนื่องจากไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง โดยในวันที่ 26 ต.ค.64 กลุ่มคนรักอ่าวชุมพร จะไปที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรด้วย
นายศุภณัฐ เพชรสจันทร์ กลุ่มมิตรเต่า SupBoard ชุมพร แกนนำชาวบ้านหาดทรายรี และเรือท่องเที่ยวชายฝั่งหาดทรายรี กล่าวว่าอดีตหาดทรายรี มีทรายทรายขาวโค้งสวยงาม พอถึงช่วงลมมรสุมคลื่นลมจะซัดกระทบชายฝั่ง ซึ่งเป็นฤดูกาลทางธรรมชาติ เมื่อหมดฤดูจะกลับสู่สภาวะตามปกติ หาดทรายยังสวยงามเหมือนเดิม
ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเคยสร้างเขื่อนลักษณะนี้มาแล้ว แต่ไม่นานก็พังทลาย และแก้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากมาตลอด ใช้งบประมาณจำนวนมาก จนกระทั่งมาแก้ไขและก่อสร้างแนวเขื่อนใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่นานจะเป็นเหมือนกับการก่อสร้างแก้ปัญหาซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมา จึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในลักษณะนี้
ด้าน นายสมพร สินแก้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารหาดทรายรี กล่าวว่า ปัญหาของผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการคือเมื่อถึงฤดูลมมรสุมคลื่นลมจะแรงซัดเข้าชายฝั่งกัดเซาะสร้างความเสียชายหาด และน้ำทะเลซัดเข้าร้านอาหารบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเดือดร้อนมาตลอด ช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานเกี่ยวข้องลงมาแก้ปัญหาโดยการสร้างกำแพงเขื่อนป้องกันความเสียหายชายฝั่งและบ้านเรือนร้านอาหาร แต่ไม่นานก็พังเสียหาย มีการใช้งบประมาณซ่อมบำรุงจำนวนมากแต่ไม่นานก็พังอีก
แต่การแก้ปัญหาก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งในยุคใหม่นี้เทคโนโลยีทันสมัย มีการออกแบบที่ดีจากวิศวกรคนรุ่นใหม่ ตนเห็นว่ามีความมั่นคงแข็งแรงจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน จึงไม่อยากให้ยกเลิกโครงการนี้ ซึ่งกลุ่มคนที่มาคัดค้านไม่ได้เดือดร้อนเหมือนกับพวกตน
ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล นายปกรณ์ อารีกุล หัวหน้าคณะทำงาน ส.ส. พร้อมด้วยคณะทำงานพรรคก้าวไกลภาคใต้ตอนบน ซึ่งอยู่ระหว่างจัดกิจกรรมคาราวานก้าวไกลพบปะประชาชนกลุ่มต่างๆ ในภาคใต้ ได้ลงพื้นที่หาดทรายรี รับฟังปัญหาและความคิดเห็นของชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนกันตลิ่งดังกล่าว เพื่อเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาต่อไป