20 กุมภาพันธ์ 2564
| โดย คมฉาน ตะวันฉาย / คอลัมน์ประเทศไทยใจเดียว
54
เลียบเลาะชายทะเล สู่ “บางเบิด” ชุมชนสุดท้ายก่อนเข้าชุมพร และ “ถ้ำธง” สองดินแดนที่ยังงดงามไม่วุ่นวาย
มีปัจจัยไม่กี่อย่างที่ผมยกให้เข้าเกณฑ์ของเส้นทางขับรถท่องเที่ยวที่ดี คือ สภาพถนนไม่ลำบากจนเกินไป เรียกว่ารถทุกชนิดไปได้ มีไหล่ทางให้พอได้จอดหลบเวลาเจอจุดสวยงามระหว่างทาง รถยนต์สัญจรไม่มากจนเกินไป มีชุมชนไม่มาก หรือถ้ามีก็เป็นชุมชนเล็กๆ ไม่กี่ครัวเรือน และข้อสุดท้าย ต้องมีทัศนียภาพริมทางที่สวยงาม น่าแวะน่าท่องเที่ยว ถ้าทางบก ยังคงยกให้ถนนจากแม่ระมาด ไปจนถึงแม่สะเรียง เส้นทางสายนี้จะผ่านป่า เขา ผ่านชุมชนชนเผ่า ทุ่งนา แม่น้ำเมย แต่อาจจะขัดใจบ้างเวลาเห็นเขาหัวโล้น ซึ่งเส้นทางสายนี้ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งแล้ว ส่วนเส้นทางเลียบทะเล ต้องยกให้เส้นทางที่ผมกำลังจะว่าถึงในคราวนี้
ทางอีสานก็มี เพียงแต่ถนนทางภาคอีสานถ้าเข้าองค์ประกอบที่ผมว่า มักจะมีชุมชนขนาดใหญ่อยู่รายทาง อย่างเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงนี่ทิวทัศน์สวยมาก แต่มีหมู่บ้านเพียบเลย การที่มีหมู่บ้านใหญ่ ย่อมหมายถึงคนเยอะไปด้วย เมื่อคนเยอะ กิจกรรมของคนก็จะมาก มอเตอร์ไซค์วิ่งไปมา เสียงรถขายกับข้าว คนตะโกนโหวกเหวก ฯลฯ มันทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวลดน้อยลงไปเชียวแหละ
เส้นทางเลียบทะเลที่ผมว่านี้ จริงๆ แล้วมันเริ่มจากทับสะแก แล้วเรื่อยมาจนถึงบ้านกรูด ลองดูก็ได้นะครับ ท่านผู้อ่านลองกำหนดทริปขับรถเที่ยวขึ้นมา ไปเริ่มที่ทับสะแกเลย เลยทางแยกเข้าอำเภอไป ตรงวัดอ่างทองซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปจนถึงถนนเลียบชายทะเล ขับไปจนถึงวัดทางสาย เจดีย์ภักดีประกาศ หาดบ้านกรูด ก็พอได้ แม้เงื่อนไขอื่นจะครบหมด แต่ช่วงนี้คนหรือชุมชนก็ยังมาก แต่ลองขับไปเรื่อยๆ จากบ้านกรูดลงไปบางสะพาน เส้นนี้รถสิบล้อจะมาก ถนนหลายช่วงไม่ดี (ก็รถบรรทุกเหล็กวิ่งกันจนถนนพัง) ก็ไม่เหมาะเป็นเส้นทางเที่ยวอีก ลองขับรถลงไปจนเข้าบางสะพานน้อยนั่นแหละ ทีนี้จึงจะเริ่มเห็นเป็นอย่างที่ผมว่า คือเริ่มเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแล้ว อย่างน้อย ฝั่งซ้ายมือก็จะเป็นทะเลที่ลงไปถ่ายชายทะเลสวยๆ ได้
แต่ที่ผมจะโฟกัสครั้งนี้ก็คือ เป็นเส้นทางสายสั้นๆ ช่วงรอยต่อของบางสะพานน้อยของประจวบ และปะทิวของชุมพร โดนเป็นโค้งทะเลกว้างระหว่างหัวเขา “บางเบิด” ทางทิศเหนือและเขา “ถ้ำธง “ทางทิศใต้ ระหว่างกลางคือชายทะเลที่กว้างใหญ่ สวยงาม สิ่งแปลกปลอมประเภทรีสอร์ท โรงแรม ที่มาทำให้ทัศนียภาพอันเป็นธรรมชาติสะดุดลงนั้นไม่มี เป็นอะไรที่ยังบ้านๆ ชายหาดบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยากมากในยุคที่บ้านเราการท่องเที่ยวบูมจนถึงขีดสุด แทบไม่มีสถานที่นี้หลงเหลืออยู่
เส้นทางเชื่อมที่ผมว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเลียบทะเล ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม แม้ถนนจะเป็นทางสองเลนที่รถยนต์วิ่งสวนกัน แต่ไหล่ทางกว้างมากร่วมสองเมตร แล้วแบ่งแยกชัดเจนทำเป็นเส้นทางขี่จักรยานได้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว โครงข่ายถนนเลียบชายทะเล ของกรมทางหลวงนี้เราจะเห็นตั้งแต่เพชรบุรีไปเลย แถวบ้านแหลม นาเกลือนั่นก็ใช่ แล้วก็ไล่ยาวลงมา ตรงไหนที่เลียบทะเลเขาก็ทำถนนให้เป็นเส้นทางขับรถเที่ยว แต่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ผมตั้งขึ้น เช่น บางช่วงชุมชนมาก บางช่วงรถยนต์มาก แค่ที่ครบหมดอย่างผมว่าก็คือช่วงนี้
โดยจุดท่องเที่ยวแรกก็คือชายทะเลย่าน “บางเบิด” ซึ่งเป็นชุมชนสุดท้ายก่อนจะเข้าเขตชุมพร จะมีชุมชนเล็กๆ กระจายกันอยู่ จะดูมีบ้านเรือนหนาตาหน่อยก็ตรง “หาดบางเบิด” ติดกับ “เขาบางเบิด” นั่นเอง ย่านนี้จะมีบังกะโลที่พัก ร้านอาหารทะเล นักท่องเที่ยวไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนย่านนั้น แต่โดยส่วนตัวผมผมว่ามันยังสวยและดูยังไม่ช้ำ คือยังมีนักท่องเที่ยวมาใช้ประโยชน์ไม่มาก
หาดบางบิดช่วงที่ติดกับเขาบางเบิด
มา “บางเบิด” ผมว่าท่านผู้อ่านคงคุ้นหูบ้างจาก “แตงบางเบิด” ซึ่งว่ากันว่าเป็นพันธุ์แตงโมมีมีขนาดใหญ่ ผลยาว เนื้อฉ่ำ หวาน รสชาตเป็นที่ถูกใจผู้บริโภคอย่างมาก และมีเปลือกหนา โดยมีตลาดอยู่ในกรุงเทพและส่งออกไปขายถึงปีนัง นั่นจึงทำให้คนรู้จักบางเบิดแห่งนี้ขึ้นมาจากแตงโมนี่เอง
“แตงโมบางเบิด” เป็นผลผลิตจากบางเบิดฟาร์ม ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งได้รับการขนานนมตามหลังว่าพระบิดาแห่งเกษตรกรรมสมัยใหม่ (สามารถอ่านประวัติของท่านได้ตามสื่อทั่วไป) เจ้าของประโยคฮิต ”เงินของคือมายา ข้าวปลาคือของจริง” โดยท่านและครอบครัว มาทำฟาร์มที่บางเบิดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 แล้วสั่งแตงโมพันธุ์ Tom Watson และพันธุ์ Klondike จากอเมริกามาปลูก จนให้ผลผลิตและสร้างชื่อเสียงให้บางเบิดดังกล่าว เดี๋ยวนี้ฟาร์มบางเบิด เป็นสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเป็นศูนย์การเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยของคณะ ที่ทั้งนิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรม รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เราจะเข้าไปเที่ยวชมก็ได้เขาจะมีบ้านพักท่านสิทธิพรที่สร้างขึ้นมาใกล้เคียงตำแหน่งเดิม มีต้นนุ่นที่ใหญ่ที่สุดที่ปลูกตั้งแต่ครั้งนั้น มีแปลงปลูกพืช มากมาย แต่เสียดายที่ “แตงโมบางเบิด” ยังไม่อาจฟื้นคืนสถานะของผลไม้สร้างชื่อดังเช่นแต่ก่อนได้
แตงโมบางเบิด (ภาพจากการจัดแสดงในสถานีวิจัยสิทธิพนกฤดากร)
รถแทรกเตอร์ที่ มจ.สิทธิพรเคยใช้บุกเบิกฟาร์มบางเบิด
จากหน้าสถานีวิจัยนี้ก็จะเป็นถนนเลียบทะเลที่ผมว่าถนนจะไปทาง “บ้านถ้ำธง” ซึ่งจะแล่นเลียบทะเล ผ่านโครงการพัฒนาส่วนพระองค์บางเบิด ซึ่งข้างในจะมีการศึกษาวิจัยและทดลองปลูกพืชสารพัดในสภาพที่ดินที่เป็นทรายติดทะเล เข้าไปดูได้โดยลงชื่อกับป้อมยามด้านหน้า ซึ่งที่ทำการจะติดกับชายทะเลกว้างใหญ่ และสวยงาม ติดกับโครงการนี้ จะเป็นป่าสนที่เป็นแถวยาวเหยียดติดทะเลกว้างไปจนถึงสันทราย (Sand Dune) แห่งเดียวในประเทศไทยที่เหลืออยู่ เพราะแต่เดิมนั้นบ้านเรามีแนวสันทรายแบบนี้หลายที่มาก เพราะเกิดจากลมที่พัดพาทรายมากองกันไว้จนเป็นสันเนินขนาดใหญ่ แต่ต่อมาก็มีการพัฒนา มีการปรับเปลี่ยนสภาพ สันทรายแบบนี้จึงหายไปมาก เหลือแค่ที่นี่ที่เดียว เนื้อที่ราว 30 ไร่ บนสันทรายนี้มีพืชพรรณที่แปลกตา ที่ขึ้นบนทราย แบบที่เราเคยเห็นในสารคดีหลายชนิด ในทางระบบนิเวศถือว่ามีคุณค่าคู่ควรกับการศึกษา
เนินทรายบางเบิด
พืชที่ขึ้นบนเนินทรายบางเบิด
และถนนเส้นนี้ยังเลียบไปถึง “บ้านถ้ำธง” ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ มี “เขาถ้ำธง” เป็นแลนด์มาร์ค สิ่งที่ผมอยากให้ดูก็คือ ชายทะเลที่ยาวเหยียด กว้างใหญ่ ไร้สิ่งแปลกปลอม ทั้งน่าวิ่งออกกำลังกาย หรือจะปั่นจักรยานบนถนนเลียบทะเลนี้ก็ได้
หาดถ้ำธง
เดี๋ยวนี้มีไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลือพื้นที่แบบนี้ ที่ทุกคนสามารถไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าเจ้าของรีสอร์ทเขาจะให้ รปภ.มาไล่หรือเปล่า เพราะแม้ชายหาดจะเป็นที่สาธารณะ แต่เมื่อมีรีสอร์ท โรงแรมมาตั้งติดชายหาด มันก็กลายเป็นหาดส่วนตัวไปโดยปริยาย นิสัยคนไทยเราขี้เกรงใจ ไม่มีใครกล้าผ่าน แต่มาที่นี่ สบายใจได้ คือที่สาธารณะที่ยังคงเป็นธรรมชาติโดยแท้
โควิดก็ยังห่วง แต่ก็อยากให้ออกไปท่องเที่ยวกัน ไปกระจายรายได้ ไปให้กำลังใจกัน แต่อย่าลืมสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่ชุมชน (ตรงชายหาดกว้างไร้คน ผมว่าน่าจะถอดออกสูดอากาศได้นะ) หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ ฝึกไว้ให้ชินครับ เพราะโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน
อย่ากลัวจนไม่กล้า บ้านเราที่สวยงามยังรออยู่…