ไทยป่วยใหม่ 1.4 หมื่นราย ตายยังสูง 271 ราย กทม.-ตจว.ติดเชื้ออัตราครึ่งต่อครึ่งแนวโน้มลดลง ศบค.ย้ำเข้มแคมป์ก่อสร้าง ขยายเวลาเดินรถสาธารณะเป็น 4 ทุ่ม รองรับพนักงานห้างและร้านอาหาร สปสช.กระจายชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดให้พื้นที่เสี่ยง 15 ก.ย. ผ่านสถานพยาบาล-แอปเป๋าตัง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,653 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,395 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,160 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,235 ราย และมาจากเรือนจำ 256 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,249,140 ราย หายป่วยเพิ่ม 18,262 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,049,540 ราย อยู่ระหว่างรักษา 159,800 ราย อาการหนัก 4,740 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,011 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 271 ราย เป็นชาย 134 ราย หญิง 137 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 167 ราย มีโรคเรื้อรัง 76 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตที่บ้านและระหว่างนำส่ง 3 ราย ผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ใน กทม. 79 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 12,280 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 3 ก.ย. ได้แก่ กทม. 3,428 ราย สมุทรปราการ 1,237 ราย สมุทรสาคร 859 ราย ชลบุรี 822 ราย ระยอง 541 ราย นราธิวาส 465 ราย ราชบุรี 340 ราย นครราชสีมา 283 ราย สงขลา 279 ราย นนทบุรี 278 ราย ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อของ กทม.และต่างจังหวัดอยู่ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง และมีทิศทางลดลงทั้งคู่ นอกจากนี้ยังมีรายงานคลัสเตอร์กลุ่มเสี่ยง บางจังหวัดเป็นล้งผลไม้ แพปลา แรงงานเพื่อนบ้าน และชุมชน บางจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น จ.ชุมพร มีรายงานว่ามีการรวมกลุ่มตั้งวงเหล้า ดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน ขอเน้นย้ำให้จังหวัดตรวจสอบการรวมกลุ่มสังสรรค์ งานศพ งานแต่ง งานประเพณี และที่ ศบค.ยังเน้นย้ำอยู่คือแคมป์ก่อสร้าง โดยมีรายงานที่ จ.ระยอง, ราชบุรี, นราธิวาส เพราะตอนนี้มีการหมุนเวียนแรงงานที่เรียกว่าซับคอนแทรก อย่างเช่นช่างปูน ช่างกระเบื้อง ที่หมุนเวียนไป ขอให้เข้มงวดเนื่องจากกังวลจะลามจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หลังจากประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 32 ให้ประชาชนใช้บริการร้านอาหาร ตัดผม หรือเดินห้างได้ แต่พบว่ารถขนส่งสาธารณะมีความแออัด ขอให้กำชับมาตรการไม่ให้มีความเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งอนุญาตให้มีผู้โดยสาร 75% ถ้ามีผู้โดยสารยืนแสดงว่าเกิน 100% จึงให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มจำนวนรถให้เพียงพอต่อจำนวนประชาชน นอกจากนี้กรณีร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต้องปิดในเวลา 20.00 น. แต่พนักงานยังต้องปิดร้าน ทำความสะอาด อาจกลับบ้านไม่ทัน ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กจึงอนุญาตขยายเวลาเดินรถได้ถึงเวลา 22.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. แต่ยังไม่ใช่เป็นการผ่อนคลาย ประชาชนทั่วไปขอให้วางแผนการเดินทาง อย่าไปแออัดพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราร่วมมือกันดำเนินการมาตรการเข้มข้นในอีก 2 สัปดาห์แล้วตัวเลขไม่เพิ่ม การผ่อนคลายจะเกิดขึ้นแน่นอน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงว่า จากการอนุมัติให้ใช้ชุด Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเอง ก็มีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยติดเชื้อโควิด-19 แบบตรวจหา ATK โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปเป็นนโยบายในลำดับต่อไป ปัจจุบันชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองมีอยู่ประมาณ 45 ยี่ห้อ ทั้งนี้จะต้องมีคำอธิบายด้วยภาษาไทย มีตัวอักษรเน้นสีแดงชัดเจนว่าเป็นชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้น สำหรับบุคคลทั่วไป โดยจะมีการเฝ้าระวังการจำหน่ายชุดตรวจ ATK ในท้องตลาด สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพ และร่วมกับตำรวจในการตรวจสอบ หากทำผิดกฎหมายจะมีการดำเนินคดี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ซึ่งมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ.เป็นประธาน ได้วางแผนเร่งกระจายชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เบื้องต้นจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ในครอบครัว/ชุมชนมีผู้ติดเชื้อ คาดว่าจะเริ่มแจกได้ 15 ก.ย.นี้ ผ่านหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพใน 2 รูปแบบ คือ
1.แจกให้ชุมชนแออัด ตลาดต่างๆ โดยผู้นำชุมชน หรือผู้ประสานงาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รับชุดตรวจและกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย โดยที่ประชาชนใน กทม.ลงทะเบียนรับ ATK กับศูนย์บริการสาธารณสุข ส่วนต่างจังหวัดลงทะเบียนรับ ATK กับหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้ชุมชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้แก่ 1.ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 2.ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ คือมีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ หายใจลำบาก 3.ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด 4.ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน
กลุ่มที่ 2 แจกที่หน่วยบริการ ได้แก่ รพ. และ รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงคลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่สีแดง เพื่อให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงนำกลับไปตรวจที่บ้าน โดยประชาชนขอรับผ่านแอปเป๋าตัง หากเข้าเกณฑ์ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกำลังพัฒนาระบบและคาดว่าวันที่ 11 ก.ย.นี้จะมีการอัปเดตแอปเป๋าตังที่เพิ่มเมนูรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรี ในหัวข้อเป๋าตังสุขภาพแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะแจกคนละ 2 ชุด เพราะเมื่อได้ผลเป็นลบแล้วอาจยังไว้วางใจไม่ได้ อีก 5 วันอาจต้องตรวจอีกครั้ง
ที่ลานอเนกประสงค์อำเภอปลายพระยา จ.กระบี่ นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยข้าราชการจำนวน 150 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์เป็นอำเภอปลอดโควิด-19 แห่งแรกของประเทศไทย โดยปล่อยรถยนต์รณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบล รวม 35 หมู่บ้าน ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเพื่อให้การติดเชื้อเป็นศูนย์ภายในเดือน ก.ย.นี้.