ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติให้ยังคงพื้นที่ควบคุม 3 กลุ่มเช่นเดิม โดยพื้นที่สีแดงเข้มยังเป็น 29 จังหวัด ซึ่งหมายความว่ามาตรการเคอร์ฟิวใน กทม. และอีก 28 จังหวัด จะคงอยู่ต่อไป
นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ที่ประชุมได้รายงานถึงฉากทัศน์ใหม่การคาดการผู้ติดเชื้อจาก สธ.ว่า หากสามารถดำรงมาตรการเดิมใน ต.ค. ร่วมกับการเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล ทั้ง “การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล” และคัดกรองด้วยชุดตรวจเร็ว ATK จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงตามลำดับ
ที่ประชุม ศบค. ยังคงให้การจัดกลุ่มจังหวัดตามระดับความรุนแรงและความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดยังคงเดิมต่อไปอีก หลังจากมาตรการดังกล่าวกำลังจะครบ 2 สัปดาห์ในวันที่ 14 ก.ย. เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อใกล้หลักสามหมื่นอย่างฉากทัศน์ที่ประเมินไว้
3 พื้นที่ควบคุมประกอบด้วย
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, บุรีรัมย์, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, มหาสารคาม, ยโสธร, ระนอง, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
- พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, นครพนม, น่าน, บึงกาฬ, พะเยา, พังงา, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน และสุราษฎร์ธานี
มติดังกล่าวทำให้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการทำงานจากบ้าน และมาตรการเคอร์ฟิว หรือการห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีกด้วย
เตรียมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในเดือนต.ค. 24 ล้านโดส
น.พ. ทวีศิลป์ ยังระบุอีกว่า ตลอดเดือน ต.ค นี้ไทยจะได้รับมอบวัคซีนราว 24 ล้านโดส แบ่งเป็น
- ซิโนแวค 6 ล้านโดส
- แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส
- ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส
Thai News Pix
สรุปยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย
จำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด
-
38,873,359 โดสนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564
-
เข็มที่ 1:26,631,261 โดส
-
เข็มที่ 2: 11,630,996 โดส
-
เข็มที่ 3: 611,102 โดส
ที่มา: ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข | ณ วันที่ 9 ก.ย. 2564
สำหรับแผนการจัดสรรเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
- ประชาชนทั่วไป อายุ 18 ปีขึ้นไป จัดสรร 16.8 ล้านโดส ใช้ทั้งสูตรการฉีดไขว้ (เข็มแรกซิโนแวค เข็มสองแอสตร้าเซนเนก้า) ฉีดวัคซีนแพลตฟอร์มเดียวกัน (แอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม) และฉีดต่างแพลตฟอร์ม (เข็มแรกแอสตร้าเซนเนก้าและเข็มสองไฟเซอร์)
- นักเรียนอายุ 12-18 ปี จัดสรร 4.8 ล้านโดส ให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ทั้งสองเข็ม
- กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม จัดสรร 8 แสนโดสให้บริการวัคซีนสูตรไขว้ เข็มแรกซิโนแวค เข็มสองแอสตร้าเซนเนก้า
- กลุ่มอื่น ๆ จัดสรร 1.1 ล้านโดส ให้บริการวัคซีนสูตรไขว้ เข็มแรกซิโนแวค เข็มสองแอสตร้าเซนเนก้า
- กลุ่มผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และต้องการกระตุ้นเข็มสาม จัดสรร 5 แสนโดส โดยวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า
สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มุ่งเน้นให้บริการผ่านสถานศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งจะเริ่มในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. หรือเทียบเท่าก่อน ก่อนที่จะจัดสรรวัคซีนสำหรับชั้นอื่น ๆ ต่อไป โดยหากในสถาบันมีนักเรียนที่อายุเกินเกณฑ์ ก็จะอนุโลมให้รับวัคซีน
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรอบ 24 ชม.
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 14,403 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,045 ราย เรือนจำ 341 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมนับแต่มีการระบาดอยู่ที่ 1,352,953 ราย
หากนับเฉพาะระลอกเม.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 1,324,090 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,275 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 141,642 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,330 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 915 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 189 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 13,920 ราย คิดเป็น 1.03% หากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.04
รายละเอียดผู้เสียชีวิตทั้ง 189 ราย ดังนี้
- ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 25 ราย
- ค่ากลาง อายุ 68.5 ปี (21-103 ปี)
- 67% เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี กว่า 21% เป็นผู้มีโรคประจำตัว
- เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย
ปัจจัยเสี่ยง/โรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต อ้วน ติดเตียง
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (3,495 ราย) สมุทรปราการ (1,037 ราย) ชลบุรี (802 ราย) สมุทรสาคร (678 ราย) และราชบุรี (615 ราย)
ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 9 ก.ย. ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการให้บริการสะสมไปแล้ว 38,873,359 โดส สำหรับผู้ที่เข้าระบบ Home Isolation นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัว 11,311 ราย โดยมี 59 ราย ที่รอการส่งตัวเร่งด่วน